วันพฤหัสบดี, มกราคม 19, 2560

โปเกมอนโกกับการลงทุน

โปเกมอนโกกับการลงทุน


หลังจากห่างหายจากตลาดหุ้นไปซักพัก เนื่องจากภารกิจด้านการงานและการใช้เงินออมที่สะสมมาในการเคลียร์หนี้สินจากการซื้อบ้าน ผมจึงค่อยมีเวลาและมีสรรพกำลังพอที่จะลงเริ่มลงทุนใหม่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคิดว่าคงจะสามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่องนับจากวันนี้

กลับมาทบทวนตัวเองอีกในปีที่ผ่านมา ผมพบว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องปรับปรุงอีกมากในการลงทุน

เริ่มต้นที่ทัศนคติหรือความเชื่อ บ่อยครั้งที่พอเราได้ยินหรือได้ฟังข่าวสาร เหตุการณ์ หรือกระทู้ต่างๆเกี่ยวกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง หรือการมองดูกราฟราคาและโวลุ่มซื้อขายที่ดูน่าเป็นใจซะเหลือเกิน ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยาก็ดี หรือเหตุผลทางอารมณ์ก็ดี มักจะทำให้เรา "อดรนทนไม่ได้" ในการที่จะกระโจนเข้าไปซื้อหุ้นติดไม้ติดมือมาซักหน่อย ทั้งๆที่ตัวเราเองนั้นอาจจะยังไม่มีความรู้ต่อหุ้นตัวนั้นที่ดีเพียงพอ ซึ่งผมพอจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดเจนกับเจ้าเกมส์ยอดฮิตเกมส์หนึ่ง

ปี 2016 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าไม่มีใครไม่รู้จักเจ้าเกมส์โปเกมอนโก ที่มียอดดาว์นโหลดถล่มทลาย เพราะเป็นเกมส์ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างโลกเสมือนจริงและโลกแห่งความจริงเข้าด้วยกัน และยังสามารถใช้ประกอบในการทำกิจกรรมเดินออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี
หลักการเอาชนะเกมส์โปเกมอนโกคือเราต้องสามารถ "จับ" โปเกมอนที่มีพลังสูงด้วยการตามหาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งทำการรวมกลุ่มเพื่อ "ตียิม" ซึ่งจะทำให้เราได้เหรียญจากการเป็นเจ้าของยิมมาเพื่อซื้อไอเท็มต่างๆเพื่อเสริมสร้างโปเกมอนที่มีอยู่หรือหาโปเกมอนใหม่ๆได้ดีขึ้นไปเรือยๆ
ซึ่งการที่จะรักษายิมที่ตีเอาไว้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาพวกที่เป็นสีเดียวกันมารักษาถิ่นฐานและมอบหมายให้โปเกมอนที่มีความแข็งแกร่งเฝ้ารักษายิมเอาไว้ให้ได้เพื่อจะได้สะสมเหรียญได้มากขึ้นๆ

หากเปรียบกับการลงทุน การที่เราจะสามารถชนะการลงทุนได้นั้น พื้นฐานเบื้องต้นเราจะต้องเข้าใจก่อนว่า "อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรากำไรจากการลงทุนและไม่ทำให้เราขาดทุน" ซึ่งส่วนประกอบของตลาดหุ้นโดยหลักๆนั้น ประกอบไปด้วย

1. บริษัทจดทะเบียน
2. คนซื้อ
3. คนขาย

ในบทความนี้ ผมจะเน้นไปที่ข้อ 1 ก่อนนะครับ โดยหากเปรียบกับการตียิมในเกมส์โปเกมอนโก เราจะต้อง "รู้เขา" และ "รู้เรา" รู้เขาก็คือ รู้ว่าโปเกมอนที่เราจะเข้าไปตีนั้นมีเลเวลสูงเท่าไหร่ เป็นโปเกมอนธาตุอะไร ดังนั้นจึงกลับมาสำรวจตัวเราว่า โปเกมอนของเรามีเลเวลและธาตุที่เหมาะสมในการต่อสู้หรือไม่ จึงจะสามารถทำให้เรามีชัยในการตียิมกลับมา

แต่เมื่อลองมาทบทวนดูสาเหตุที่ "แมงเม่า" หลายคนซื้อขายหุ้น เราจะพบว่าบ่อยครั้งนักที่แมงเม่าเจ็บตัวเพราะ "ไม่รู้เขาและไม่รู้เรา" หรือสอดคล้องกับเพลงของพี่ป้อปและพี่ดา "ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ" ... เกี่ยวกันรึเปล่า...

ในความเห็นส่วนตัวผมเพิ่งที่เข้าใจแบบลึกซึ้งของคำว่า "อย่าโลภเกินความรู้" และคำว่า "สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ สมควรที่จะได้รับผลตอนแทนมากกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดหุ้นหรือไ่ม่" ยกตัวอย่างเช่น หากวันๆเราเอาแต่ตามกระทู้หุ้นหรือตามข่าวหุ้นแบบฉาบฉวยซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ใครๆก็ทำและเลียนแบบได้ง่าย ตามตรรกะแล้ว มันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด เพราะเมื่อทุกๆคนทำได้ เราก็ไม่สมควรที่จะมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย

ในระยะยาวแล้ว การทำกำไรจากหุ้นย่อมมาจากการที่ราคาหุ้นสูงขึ้นไปกว่าต้นทุนที่เราซื้อ ดังนั้นมีประเด็นหลักๆที่เราต้องตอบให้ได้ก่อนจะซื้อหุ้นคือ

1. บริษัทที่เราจะลงทุนนั้นกำไรจะเป็นอย่างไรในอีก 3 - 5 ปีข้างหน้า
2. อะไรคือปัจจัยเสี่ยงและโอกาสของบริษัท ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการทำกำไร
3. ราคาเป้าหมายที่เหมาะสมคือเท่าไหร่

ในการจะสร้างความได้เปรียบในการลงทุนนั้น หากเราต้องการชนะมาก เราต้องมีควาามรู้มาก และความรู้ที่จำเป็น หาใช่ข่าวสารที่บินไปบินมามากมายในแต่ละวันเพียงอย่างเดียว หากแต่เราต้องมีความรู้ในข้อ 1 และของ 2 เตรียมพร้อมไว้ก่อนต่างหาก หลังจากนั้น "ข่าวสาร" ถึงจะสร้างประโยชน์ให้เราเมื่อราคาหุ้นนั้นยังไม่สะท้อน

ยกตัวอย่างเช่น หากเรารู้ว่าบริษัทๆหนึ่งมีรายรับที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศในสัดส่วนที่มากและยังไม่ได้ทำการประกันอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ครั้นเมื่อเราได้ทราบข่าวแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนตัวลงในระยะยาว เราจึงสามารถผนวกกับความรู้ที่เรามี สร้างความได้เปรียบขึ้นมาด้วยการประเมินกำไรของบริษัทเทียบกับราคา ซึงหากราคายังไม่สะท้อน เราก็สามารถทำกำไรด้วยการซื้อหุ้นตัวนั้นก่อน

แต่อนิจจา น่าเสียดายที่ในวันนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่กลับติดตามข่าวทั้งๆที่ไม่รู้เลยว่าจะสร้างความได้เปรียบจากฝูงชนจากการเสพข่าวอย่างมากมายได้เช่นไร

เปรียบเสมือนกับการเฝ้ามองดูสถานการณ์แล้วบอกกับตัวเองว่า "เมื่อไหร่จะมีสงครามเกิดขึ้นซักที ชั้นจะได้ถือคัทเตอร์ไปฟาดฟันกับเอ็ม 16"

ดังนั้น ทางรอดของเราก็คือ การเสริมสร้างความรู้ทีละน้อยโดยเริ่มศึกษาธุรกิจของบริษัทในตลาดและติดตามผลประกอบการอย่างต่อเนื่อง วิธีนี้อาจเป็นวิธีที่ไม่สามารถทำกำไรได้ในระยะเวลาอันสั้นสำหรับผู้เริ่มต้น แต่รับประกันเลยว่า สำหรับผู้ที่ลงแรงและเวลาอย่างต่อเนื่อง เค้าจะสามารถเป็นผู้ชนะในระยะยาวได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเค้านั้น โลภพอๆกับความรู้ ครับ



วันอังคาร, ธันวาคม 06, 2554

มหาอุทกภัย VS มุมมองการลงทุนเน้นคุณค่า

เป็นมุมมองที่แชร์ไว้ในเว็บ ThaiVI นะครับ
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=50339

เป็นเวลาค่อนข้างนานแล้วที่ผมไม่รู้สึกถึงแรงผลักดันในการตั้งกระทู้ขึ้นมาในเว็บแห่งนี้ อาจเป็นเพราะงานที่รัดตัวและปัจจัยอื่นๆหลายๆอย่าง แต่แล้ววันนี้ ผมกลับรู้สึกถึงแรงผลักดันที่ค่อนข้างรุนแรงที่ทำให้ผมรู้สึกอยากจะแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนๆในเว็บนักลงทุนหุ้นคุณค่าแห่งนี้นะครับ

สิ่งกระตุ้นของแรงนี้เกิดขึ้นในขณะที่ผมนั่งติดตามข่าวน้ำท่วมจากช่อง TNN 24 เวลาประมาณทุ่มนิดๆ โดยแขกรับเชิญ ณ ขณะนั้นคือ ดร. สมบัติ อยู่เมือง ปัจจุบันท่านเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย http://www.gisthai.org ซึ่งเป็นเว็บที่หลายๆท่านน่าจะเคยเข้าไปติดตามภาพภ่ายดาวเทียมของน้ำที่หลากในประเทศไทย

การให้สัมภาษณ์ของอาจารย์ อาจจะไม่หวือหวาและมีสีสันด้วยความที่อาจารย์ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเน้น “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า “ความเห็น” ที่เกิดจากการคิดโดยขาดสมมติฐานและข้อมูลที่ละเอียดเพียงพอ

อาจารย์มีแนวทางการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำใน กทม ว่าเราควรมองภาพใหญ่ก่อน ซึ่งก็คือมวลน้ำที่มีอยู่และทิศทางน้ำที่กำลังจะเคลื่อนตัวไป ดังนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือแผนที่แสดงถึงเขตต่างๆใน กทม และปากกาไฮไลท์สี โดยท่านแนะนำว่า เราควรติดตามสถานการณ์น้ำว่า ในวันนี้น้ำมีทิศทางเลื่อนตัวไปทิศทางใด ช้าหรือเร็ว ใกล้หรือห่างจากบ้านที่เราพักอาศัยอยู่

ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฎขึ้นก็คือ การเดินทางของน้ำที่หลากมานั้น เดินทางค่อนข้างช้ากว่าที่หลายๆคนคิดกัน เนื่องจากสภาพพื้นผิวของ กทม ที่มีระดับความลาดชันที่ไม่มากนัก ดังนั้นบ้านที่จะต้องระวังคือส่วนที่ใกล้บริเวณคลองหรือบริเวณที่ใกล้แนวคันกั้นน้ำที่มีโอกาสเกิดน้ำล้นออกมาจากคลองหรือคันกั้นน้ำ ในขณะที่บ้านเรื่อนที่อยู่ในพื้นที่ห่างออกมา ก็ยังพอมีเวลาที่จะติดตามว่า ในแต่ละวันนั้น น้ำได้เดินทางตามแนวสูงต่ำของพื้นที่อย่างไร

ข้อเท็จจริงอีกประการที่เกิดขึ้นแล้วและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ คันกั้นน้ำชั่วคราวในฝั่งตะวันออกหลายๆแห่งที่หลายๆคนเป็นห่วงว่าจะไม่แข็งแรงและอาจจะมีความเสี่ยงที่จะพังลงมา กลับแทบจะไม่มีปัญหาเลย ซึ่งเราอาจสามารถวิเคราะห์จากแผนที่ได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากการไหลของมวลน้ำที่ไม่ได้เข้าปะทะโดยตรงกับคันกั้นน้ำ หากแต่ไหลเอียงไปทางทิศตะวันตกของ กทม มากกว่า ทำให้แรงของน้ำที่ปะทะกับคันกั้นน้ำนั้น ไม่ได้แรงขนาดที่เราคาดการณ์เอาไว้

แต่สิ่งที่ปฏิเสธอีกไม่ได้เหมือนกันคือ “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอดีต ซึ่งอนาคตที่กำลังจะมานั้น มีตัวแปรมากมายหลายอย่างที่สามารถเปลี่ยนทิศทางน้ำหรือความน่าจะเป็นที่น้ำจะเข้ามาท่วมบ้านเรา

หลังจากเกริ่นมาซะนาน สิ่งที่ผมแว้บขึ้นมาจากการติดตามข่าวของอาจารย์ท่านนี้ ทำให้ผมได้คิดเชิงเปรียบเทียบกับการลงทุนหุ้นคุณค่า สรุปออกมาได้ดังนี้ครับ

น้ำท่วม: “คนกรุงเทพเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง คาด น้ำอาจถึงอนุสาวรีย์ชัยในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหากคันแตก” หากแต่ข้อเท็จจริงที่เราประสบนั้น หากคันกั้นน้ำเกิดแตก ก็จะมีการแตกเป็นจุดๆโดยเริ่มจุดที่มีความอ่อนแอที่สุดก่อน (ทำให้เรามีเวลาไปอุดทัน ผ่อนหนักเป็นเบา) ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่น้ำจะท่วมจากคลองหกวาไปถึงอนุสาวรีย์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

การลงทุนหุ้นคุณค่า: การมองที่พื้นฐานของกิจการหรือคุณค่านั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ VI ทุกคนต้องประเมิน ซึ่ง “มูลค่า” ของกิจการนั้น ขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่นักลงทุนแต่ละคนคิดเอาไว้ โดยที่ความถูกต้องแม่นยำของการประมาณการนั้น ปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งก็คือความเข้าใจที่ละเอียดเพียงพอกับกิจการที่เราจะลงทุน ว่าสิ่งใดคือ “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้น และสิ่งใดคือ “ความเห็น” ที่เกิดจากสมมติฐานของคนบางกลุ่ม เปรียบได้กับข่าวน้ำท่วมที่มีการทำนายออกมานั้นก็ขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่นักวิเคราะห์แต่ละค่ายได้คิดเอาไว้ ซึ่งอาจจะไม่มีความละเอียดเพียงพอ ดังนั้น เราจึงควรกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับมานั้นด้วยเหตุและผล ประกอบกับข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น จะทำให้เราสามารถ “ทำนาย” ได้แม่นยำขึ้นว่า น้ำจะท่วมบ้านหรือไม่ ช้าหรือเร็ว ทำให้เราสามารถเตรียมตัวตั้งรับได้ทันโดยไม่ตื่นตระหนก


น้ำท่วม: “ผู้คนเตรียมตัวไม่ทัน เพราะน้ำมาเร็วและแรงกว่าที่คิด” สิ่งนี้มักเกิดกับผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณจุดเสี่ยง คือบริเวณที่ใกล้แม่น้ำ ลำคลองหรือแนวกั้นน้ำที่มีความแข็งแรงน้อย และอาจไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดหรือไม่ตระหนักที่ความเสี่ยงที่กำลังเผชิญอยู่

การลงทุนหุ้นคุณค่า: “ความเสี่ยง” ที่มูลค่าของกิจการจะเปลี่ยนไปนั้น แตกต่างกันตามบริษัทแต่ละบริษัท หากเราสนใจที่จะลงทุนในบริษัทที่มีความเสี่ยงหรือความผันผวนของกำไรสูง สิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย คือการติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ แต่หากเราไม่มีเวลามากมายขนาดนั้น เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงกิจการที่มีความเสี่ยงของกำไรที่ค่อนข้างสูง


น้ำท่วม: “คนกรุงแห่เอารถจอดบนสะพานเพราะกลัวรถจมน้ำ”

การลงทุนหุ้นคุณค่า: การตื่นตระหนกจนเกินไปโดยขาดการควบคุมอารมณ์ที่ดีอาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดในการลงทุน เช่นเดียวกับการนำรถไปจอดบนทางหลวง ซึ่งมีโอกาสที่รถจะเสียหายจากอุบัติเหตุหรืออาจประสบกับความยากลำบากหากเราต้องการจะอพยพไปต่างจังหวัด


น้ำท่วม: คนกรุงเทพแห่กันอพยพออกต่างจังหวัด เนื่องจากหวั่นน้ำทะลักเข้ากรุง ทำให้เส้นทางออกต่างจังหวัดรถติดนาน 3 ชั่วโมง ของกินของใช้ในตัวเมืองเริ่มหายาก

การลงทุนหุ้นคุณค่า: การเลี่ยนแปลงของราคาหุ้นนั้น บ่อยครั้งเกิดจาก “อารมณ์ของตลาด” มากกว่า “ข้อเท็จจริง” ดังนั้นการลงทุนให้ชนะตลาดได้นั้น เราจะต้องไม่หลงไปกับทิศทางของอารมณ์ตลาดโดยปราศจากการคิดอย่างรอบคอบด้วยข้อเท็จจริงที่มี ดังเช่นการอพยพออกต่างจังหวัดนั้น หากเรามีสติเพียงพอและติดตามข่าวสารอยู่ เราอาจจะพอทำนายได้ว่า เราอาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอพยพภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ตามฝูงชน ซึ่งเป็นช่วงที่รถติดหนักและเสียเวลาโดยใช่เหตุ (แต่จองห้องไว้ก่อน แล้วค่อยอาศัยช่วงที่ซาๆ ลง ค่อยอพยพไป)


อาศัยว่ากระทู้นี้มีพอมีเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่าอยู่บ้าง เลยอาศัยเนียนอยู่ในห้องนี้อัพเดท
"ข้อเท็จจริง" ของน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในบ้านเรานะครับ...อิอิ

http://www.gisthai.org/map-galery/Flood ... 202554.jpg

จากเว็บด้านบนแสดงถึงน้ำของวันที่ 6 ตุลาคม (สีชมพู) เทียบกับ 26 ตุลาคม (สีฟ้า) นะครับ
จะเห็นว่าน้ำก้อนใหญ่นั้น ได้มาถึง กทม ฝั่งตะวันออกอย่างเต็มภาคภูมิแล้ว และ กทม ก็ยังสามารถรับน้ำได้อยู่
(จะเห็นว่าสีฟ้าจะถูกหยุดอยู่บริเวณคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ) แต่ก็มีส่วนน้อยที่แอบล็อดเล็ดออกมาบริเวณที่เป็นข่าว
กันอยู่ในถนนวิภาวดีและพหลโยธินในขณะนี้

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมวลน้ำสีฟ้าทางด้านตะวันตกที่ ณ ขณะนี้ได้มาจัดเต็มรออยู่ที่คลองมหาสวัสดิ์และได้ล้นจนสร้าง
ปัญหาในแนวเขตทวีวัฒนาอยู่ในขณะนี้

โดยจากที่ฟังอาจารย์สมบัติ ท่านคิดว่าเขตที่ควรระวังต่อไปคือเขตที่มีพื้นที่ต่ำและอยู่ใกล้บริเวณเขตทวีวัฒนา
โดยเฉพาะบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่บริเวณใกล้ริมคลองฝั่งธนต่างๆ ที่น่าจะมีน้ำเอ่อล้นออกมา

กลับมาที่มุมมองเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่ากันดีกว่านะครับ "ข้อเท็จจริง" ของการไหลของน้ำที่ "เปรียบเทียบ"
ระหว่างวันที่ 6 ตุลาคมกับวันที่ 26 ตุลาคม ก็เปรียบได้กับการเปรียบเทียบสถานะของกิจการ หรือการวิเคราะห์ "งบการเงิน"
ของกิจการที่เราลงทุนอยู่นั่นเอง ดังนั้น ความสามารถในการอ่าน "งบการเงิน" ให้เป็นนั้น เราจะต้องวิเคราะห์แบบเปรียบเทียบ
โดยมีความสามารถในการทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของ "ข้อเท็จจริง" ที่ปรากฎในงบการเงินให้ได้ว่า "ข้อเท็จจริง" ด้านรายได้
นั้นสูงขึ้นหรือต่ำลงจากอะไร "ข้อเท็จจริง" ต้นทุนขาย สูงขึ้นหรือต่ำลงเพราะอะไร

เมื่อเราสามารถรู้ได้ถึง "ปัจจัย" ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขทางการเงินได้แล้ว ก็จะทำให้เรามีความสามารถ
ในการที่จะพยากรณ์อนาคตของกิจการเพื่อที่จะประเมินมูลค่าของกิจการที่เราลงทุนได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

หวังว่าบทความเชิงเปรียบเทียบนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อมือใหม่ในการลงทุนแบบ VI ไม่มากก็น้อยนะครับ

วันจันทร์, เมษายน 25, 2554

มุมมองจากคุณ Invisible Hand

credit จาก http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=16119

การเลือกหุ้นการคัดกรองหุ้น

- สมัยก่อนผมจะดูความถูกแพงของหุ้นก่อน เช่น p/e และ p/bv แล้วค่อยมาดูชื่อบริษัทว่าทำอะไร อยู่ในธุรกิจอะไร ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนมาดูประเภทธุรกิจ ชื่อบริษัทก่อน แล้วค่อยมาดูความถูกแพงครับ ก็คือ ระยะหลังๆ ผมจะให้น้ำหนักปัจจัยด้านคุณภาพมากกว่าปัจจัยด้านปริมาณ

ปัจจัยคุณภาพที่ผมดูก็มีหลายอย่างครับ เช่น

1 ธุรกิจที่บริษัทนั้นๆ ทำอยู่

ก็คงดูการลักษณะของธุรกิจและการเติบโตในระยะยาวๆ หลักๆ ผมจะดูว่าตลาดหรือธุรกิจนั้นๆ อยู่ในระยะไหนของการเติบโต โตเร็ว ปานกลาง หรือช้า หรือถดถอย ยกตัวอย่าง หากผมมองว่าการอ่านหนังสือ หรือการใช้คอมพิวเตอร์ของคนไทยยังต่ำ และโตได้อีกมาก ผมก็จะเริ่มมองหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ และหากผมมองว่าแนวโน้มคนจะนิยมซื้อสินค้าที่เป็นร้าน modern trade มากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็มาดูหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ modern trade บางครั้งก็จับทั้งคู่มาผสมกันได้ เช่น อาจจะดูหุ้นที่เป็น modern trade ที่ทำธุรกิจ IT หรือ modern trade ที่ขายหนังสือ
หรือผมมองว่าอนาคต ประชากรจะป่วยง่ายแต่ตายช้าลง เพราะคนเราทำงานหนักขึ้นเครียดขึ้น เป็นโรคต่างๆ กันมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน แต่คุณภาพการรักษาพยาบาลดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยแม้ไม่หายขาดแต่ก็จะยืดอายุได้นาน อีกทั้งแนวโน้มคนแก่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่ากลุ่ม รพ. น่าสนใจ
หรือ ผมมองว่าคนไทยยังทำประกันชีวิตในสัดส่วนน้อย ผมก็จะมองว่าหุ้นที่ทำประกันชีวิตน่าสนใจ
ธุรกิจไหนที่อยู่ติดกับลูกค้ารายย่อยๆ จำนวนมาก ก็จะมีอำนาจการต่อรองสูงกว่า และหากรับค่าสินค้าและบริการเป็นเงินสด ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากๆ ในยุคปัจจุบันครับ
ส่วนระยะเวลาหรือ time frame ที่ผมมองระยะหลังๆ ผมจะมองไป 5-10 ปีเลย เพราะผมเชื่อว่าหุ้นดีราคาถูกเริ่มหายาก ดังนั้นเราควรหาหุ้นที่จะถือได้ยาวๆ เลย จะได้ไม่ต้องคอยหาหุ้นใหม่ๆ
กลุ่มที่ผมคิดว่าไม่น่าสนใจก็มีเช่น หุ้นที่ผมมองว่าอำนาจการต่อรองมักจะเป็นของผู้ซื้อ ซึ่งมักจะเป็นผู้ซื้อที่มีขนาดบริษัทที่ใหญ่กว่าผู้ขาย เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ หรือบรรจุภัณฑ์ ผมมองว่าหุ้นเหล่านี้มีอำนาจต่อรองต่ำ และเวลาขายต้องให้เครดิตลูกค้านานๆ ทำให้กระแสเงินสดไม่ดี และเสี่ยงกับหนี้สูญ ระยะหลังๆ ผมจะไม่สนใจหุ้นกลุ่มดังกล่าว

2. สถานภาพการแข่งขันของบริษัทนั้นๆ ในธุรกิจ

ผมมักจะเลือกหุ้นที่มี market share อันดับต้นๆ หากไม่ได้เป็นอันดับต้นๆ ของตลาดรวมก็ควรจะเป็นอันดับต้นๆ ใน segment ที่ตนเองอยู่ เพราะตลาดๆ หนึ่งก็สามารถแบ่งได้เป็นหลายๆ segment เพราะการเป็นผู้นำตลาดย่อมพิสูจน์ได้ว่าผู้บริหารน่าจะมีความสามารถเพียงพอในระดับหนึ่ง นอกจากนี้การเป็นผู้นำตลาดย่อมทำให้บริษัทนั้นๆ มีอำนาจต่อรองกับลูกค้าและ supplier ที่สูงกว่า และมักจะแสดงถึง brand name ที่แข็งแกร่งกว่า
อย่างไรก็ตามให้ระวังเรื่อง mkt share หากมากเกินไปอาจจะจำกัดการเติบโตได้ เช่น หากตลาดโตน้อย คือปีละ 5% และหุ้นที่เราดูมี mkt share 60% ก็หมายความว่าหุ้นตัวนั้นมีการเติบโตจำกัด เพราะการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากกว่านี้อีกได้ไม่เท่าไหร่ และมีโอกาสที่เสีย mkt share หากมีการแข่งขันมากขึ้น แต่หาก mkt share 60% แต่ตลาดโตสูงมาก เช่น 20-30% หุ้นดังกล่าวจะกลายเป็นตรงกันข้ามคือเป็นหุ้นที่น่าสนใจมาก เพราะการมี mkt share สูงมากทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก ดังนั้นแค่โตตามตลาดก็เพียงพอแล้ว

3 ดูความยากง่ายของการเข้ามาทำธุรกิจ

บางจุดเวลา เราอาจจะเจอหุ้นที่ผ่านลักษณะที 1 และ 2 ในเวลาเดียวกัน แต่บังเอิญธุรกิจดังกล่าวมีการเข้ามาแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหม่ได้ง่าย ก็จะทำให้ธุรกิจนั้นๆ แทบจะไม่เหลือความน่าสนใจเลย เพราะการที่ผู้ประกอบการเข้ามาใหม่ได้ง่าย ทำให้แม้ว่าธุรกิจนั้นๆ จะมีแนวโน้มการเติบโตสูง แต่พอการแข่งขันเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ประกอบการรายเดิมลดลง และการแข่งขันที่รุนแรงมักจะทำให้ margin ของธุรกิจลดลงด้วย ดังนั้นหุ้นที่ผ่านลักษณะที่ 1 และ 2 แต่ไม่ผ่าน 3 ก็อาจจะต้องเป็นหุ้นระยะสั้นถึงกลางๆ มากกว่าระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น LH ผ่านข้อ 1 และ 2 แต่ไม่ผ่าน 3 ดังนั้นถึงจุดหนึ่งหุ้น LH จะเริ่มไม่ perform ดังเช่นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น หากเราเจอหุ้นที่ธุรกิจมีการเติบโตสูง และมี gross margin สูงมาก และรู้สึกว่าคู่แข่งเข้ามาได้ไม่ยาก ให้ระวังว่าหุ้นเหล่านี้จะเป็นหุ้นที่จะมีกำไรลดลงได้มากในปีต่อๆ ไป ยกตัวอย่างเช่นหุ้น GMMM และหุ้น Q-CON โดยเฉพาะหุ้น GMMM เป็นหุ้นที่สอนให้ผมถึงบทเรียนดังกล่าวเพราะธุรกิจวิทยุมี GMMM เป็นผู้นำตลาด แต่พอรายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันก็ทำให้ตลาดเป็นการแข่งขันสูงและ margin ลดลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น การที่จะดูว่าธุรกิจไหนมีการเข้าใหม่ยากง่ายแค่ไหน เราคงจะต้องดูจากตัวเราเอง คือ ลองสมมุติให้เรามีเงินที่มากพอ แล้วให้ลองศึกษาดูว่าการทำธุรกิจที่เราสนใจนั้นๆ ยากง่ายแค่ไหน ทั้งในด้านการหาพนักงาน การหาเทคโนโลยีการผลิต การสร้าง brand การหาลูกค้า ฯลฯ ถ้ารู้สึกว่าไม่ยากเกินไป หุ้นที่เราดูอยู่อาจจะไม่น่าสนใจเท่าไรนักครับ

4 ธุรกิจที่ลงทุนควรจะเป็นธุรกิจที่จับต้องได้ง่าย อยู่ในชีวิตประจำวัน

ผมเชื่อว่าหากเราซื้อหุ้นที่มีสินค้าและบริการที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรานั้น ทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากในการติดตามหาข้อมูลครับ เพราะมันจะอยู่รอบๆ ตัวเราหมดเลย ดังนั้นเราสามารถรับรู้ว่าบริษัทที่เราลงทุนมีแนวโน้มดีหรือแย่ได้จากการสังเกตในชีวิตประจำวันของเรา ผมเชื่อว่าสมัยก่อนตอนที่ VI ยังไม่ boom การรองบออกแล้วค่อยตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นตัวหนึ่งๆ น่าจะยังเป็นสิ่งที่ไม่ช้าเกินไป แต่ปัจจุบันผมเชื่อว่าเราควรจะซื้อหุ้นที่คาดว่างบจะออกมาดี และขายหากคิดว่างบจะออกมาไม่ดี ดังนั้นหากเป็นธุรกิจที่จับต้องยาก เราจะรู้ว่างบดีหรือไม่ดีพร้อมกับคนอื่นๆ คือวันที่ประกาศงบออกมา ซึ่งผมคิดว่าไม่เพียงพอแล้วสำหรับการลงทุนแบบปัจจุบันที่มี VI อยู่จำนวนมากมาย

5 ผู้บริหาร

ที่คุยมา 4 ข้อหากข้อ 5ไม่ผ่านก็โยนสิ่งที่เราศึกษามานั้นทิ้งไปเลยครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้บริหารบริษัทที่ต้องมีคุณธรรม จริยธรรมสูงส่งเพราะบางทีก็หายากเหมือนกัน และคนที่พยายามจะหาผู้บริหารหรือผู้นำที่เป็นเช่นนั้นผมว่าก็อาจจะทำให้เกิดความทุกข์เช่นกัน ผมชอบผู้บริหารที่เข้าใจกลไกตลาดทุน ก็คือ หากบริษัทกำไรดีขึ้น ราคาหุ้นก็จะขึ้น ผู้บริหารก็จะได้ประโยชน์จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นเช่นกันเพราะทำให้มูลค่าในส่วนที่ตนเองถือหุ้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน หรือหากถือหุ้นน้อยหรือไม่ถือหุ้นก็น่าจะมีโบนัสหรือได้ขึ้นเงินเดือน ดังนั้นผู้บริหารที่ดีในสายตาผม ก็คือผู้บริหารที่พยายาม maximize shareholder value ก็คือพยายามที่จะสร้างมูลค่าที่สูงที่สุดให้กับหุ้นตัวเอง แต่มีข้อแม้ว่าจะไม่เบียดบังสังคมเกินไป เช่น หากมีประวัติปล่อยน้ำเสีย ของเสีย หรือเอาเปรียบแรงงาน ผมก็คงไม่ลงทุนครับ

หากผู้บริหารโดยเฉพาะผู้บริหารที่เป็นเจ้าของ เข้าใจเรื่องตลาดทุน จะเข้าใจว่าการปล่อยให้กำไรอยู่ในบริษัท เมื่อมีกำไรเพิ่มขึ้น 100 ล้าน หากหุ้นดังกล่าวมี p/e 10 เท่า มูลค่าหุ้นก็จะเพิ่ม 1000 ล้าน หากผู้บริหารถือหุ้น 30% ก็เท่ากับว่าจะรวยขึ้น 300 ล้าน แต่หากเทียบกับว่าผู้บริหารดังกล่าวนำเงินออกจากบริษัทไป 100 ล้านเข้ากระเป๋าตัวเอง เค้าจะได้เงินไปแค่ 100 ล้านเท่านั้น

ดังนั้น ผมจะตัดบริษัทที่ผู้บริหารมีประวัติไม่ดี และบริษัทที่เคยมีรายการระหว่างกันที่เป็นการผ่องถ่ายเงินจากบริษัทจดทะเบียนเข้าส่วนตัวหรือเข้าบริษัทที่ผู้บริหารมีส่วนได้ส่วนเสียครับ

ส่วนข้อมูลดังกล่าวอาจจะถามว่าผมหามาได้ยังไง คำตอบคือ ก็คงต้องใช้การอ่านหนังสือพิมพ์มากๆ และสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ครับ ในระยะแรกๆ ที่ผมประสบการณ์น้อย ผมจะไปศูนย์ข้อมูลมติชน อยู่ที่ บ. มติชน ประชานิเวศน์ ครับ ไปขอค้นข่าวเกี่ยวกับบริษัทที่ผมสนใจย้อนหลัง 10 ปีเพื่อดูว่าผู้บริหารเคยให้สัมภาษณ์หรือเคยให้ข่าวอะไรบ้าง รวมทั้งบริษัทนั้นๆ เคยมีประวัติอะไรไม่ดีหรือไม่ครับ ก็ถือว่าสะดวกดีครับ เสียค่าค้นไม่กี่บาทครับหากเทียบกับกำไรหรือขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นครับ


เมื่อใช้การกรองหุ้นข้อ 1-5 ออกมาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะลงทุนได้ทางทีนะครับ เพราะมันเป็นการกรองหุ้นจำนวนหนึ่งออกมา สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ การวิเคราะห์เชิงลึก สิ่งที่ควรทำก็คือการอ่าน 56-1 รายงานประจำปี และเริ่มหาข้อมูลในด้านต่างๆ ของบริษัท โดยการสำรวจ ลองใช้สินค้าและบริการของหุ้นที่เราสนใจ รวมไปถึงใช้ของคู่แข่งด้วยเพื่อเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ยังต้องหาข้อมูลอื่นๆ อีกมาก เช่น ถามความเห็นของเพื่อนหรือคนที่ใช้สินค้าและบริการทั้งของหุ้นที่เราสนใจและคู่แข่ง นอกจากนี้หากเป็นไปได้ ควรจะถามความเห็นของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ถ้าสามารถหาได้ เช่น พนักงาน คู่แข่ง supplier ลูกค้า โดยข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับก็เพื่อนำมาสรุปว่าปัจจุบันบริษัทมีความได้เปรียบเสียเปรียบกับคู่แข่งอย่างไร และเพื่อให้พอมองแนวโน้มในอนาคตได้

ส่วนที่จะดูว่าหุ้นตัวไหนถูกหรือแพง คงจะดูหลายๆ ประเด็นประกอบกัน คงจะดูเพียง p/e p/bv อย่างใดอย่างหนึ่งหรือแค่ทั้งสองอย่างคงไม่ได้ หุ้น TTA ที่ถามถึงมานั้นเป็นหุ้นวัฎจักร หรือ cyclical ซึ่งจะมี p/e ต่ำมากในช่วง peak ของ cycle และจะมี p/e สูงมากในช่วง bottom หรือหา p/e ไม่ได้เลยเพราะบางช่วงตอน bottom จะขาดทุน ดังนั้นหุ้นวัฎจักร จะซื้อโดยดู p/e ไม่ได้เลย แต่จะต้องดูแนวโน้มของวัฎจักรว่าตอนนี้น่าจะอยู่ช่วงไหนของ cycle แล้ว เราจะต้องซื้อที่ใกล้เคียงกับ bottom และขายในช่วงขาขึ้น ดังนั้น หากเราลงทุนในหุ้นวัฎจักรจะต้องศึกษาและเข้าใจในธุรกิจนั้นอย่างถ่องแท้ ซึ่งมีคนจำนวนน้อยที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นสำหรับนักลงทุนทั่วไปผมไม่ค่อยแนะนำให้ลงทุนในหุ้นวัฎจักรเพราะจะมีความเสี่ยงมากและมีโอกาสสูงที่จะเข้าไปซื้อช่วง peak ซึ่ง broker จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าใจหุ้นวัฎจักรอย่างแท้จริงและอาจจะให้คำแนะนำที่เป็นอันตรายกับนักลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีความรู้มากพอแล้ว การลงทุนในหุ้นวัฎจักร หากประสบความสำเร็จก็จะทำให้มีผลตอบแทนที่มากพอกับความพยายามที่ลงไปได้เช่นกัน

ส่วนการใช้ DCF นั้น ผมคิดว่าไม่จำเป็นเท่าไหร่สำหรับนักลงทุนทั่วไปครับ เพราะจริงๆ แล้ว p/e คือผลสุดท้ายของ DCF นั่นแหละครับ เพราะ DCF เป็น model ที่คำนึงถึง growth ความเสี่ยง เงินสดและหนี้สิน ซึ่งหากเราใช้ p/e เป็น ใช้ p/bv ได้ถูกวิธี มันจะเป็นสุดยอดวิชาขั้นสูงกว่าการใช้ DCF อีกครับ เพราะมันเป็นการนำหลักแนวคิดของ DCF มาใช้ได้โดยไม่ต้องเหนื่อยมานั่งทำ model อย่างท่านอาจารย์ ดร. นิเวศน์เอง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ DCF ในการคำนวณนะครับ มันเหมือนกับอะไรที่ back to basic ครับ บางครั้งอะไรที่ซับซ้อนมากๆ กลับไม่ใช่สุดยอดวิชา แต่สิ่งที่เป็นสุดยอดวิชา มักจะไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด

ส่วนจะใช้ p/e p/bv ให้เป็นนั้น ผมคงไม่สามารถถ่ายทอดด้วยการเขียนในคำตอบนี้ให้หมด เพราะหากจะเขียนคงจะใช้จำนวนหน้าเป็นหลายร้อยหน้า และเรียบเรียงไม่ถูก ดังนั้นผมจึงอยากให้เพื่อนๆ ถามเป็น case ของหุ้นแต่ละตัวมาแล้วผมจะให้ความเห็นและสอดแทรกแนวคิดไปเรื่อยๆ คงจะเป็นวิธีที่ดีกว่าครับ ผมเองยังเสียดายที่หลายครั้งคำถามใน web ส่วนใหญ่จะถามผมเป็นรายตัวมากกว่าที่จะถามวิชาความรู้จากผม ซึ่งผมคิดว่าอย่างหลังน่าจะมีคุณค่ามากกว่าครับ

ส่วนที่ถามว่า DCF มีข้อเสียยังไง ข้อเสียคือ เนื่องจากมันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการคำนวณหา valuation ของหุ้น แต่หากนำไปใช้โดยขาดความเข้าใจที่แท้จริง ซึ่งผมเองก็เคยเป็นอย่างนั้นเมื่อก่อน จะทำให้ได้ valuation ที่ผิดพลาดไปมาก โดยเฉพาะการนำ dcf ไปใช้กับหุ้นที่เป็นวัฎจักร ทั้งวัฎจักรเศรษฐกิจและวัฎจักรที่เป็น commodity ผลเสียที่เกิดจะรุนแรงเพราะคนที่วิเคราะห์โดยใช้ DCF ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิเคราะห์มักจะเชื่อมั่นในตัวเองสูงอยู่แล้ว และมักจะมี financial model ที่ซับซ้อน ดังนั้นหากได้ DCF target จากการวิเคราะห์ของตนแล้วมักจะยึดมั่นอย่างสูง และผู้ที่ฟังคำแนะนำก็จะเชื่อมั่นอย่างสูงเช่นกันเพราะโดยหลักการแล้วเป็นวิธีที่ดีกว่า p/e และ p/bv ดังนั้น DCF valuationได้ทำให้นักวิเคราะห์และคนที่ใช้บทวิเคราะห์เจ็บปวดมาครั้งแล้วครั้งเล่าครับ


ส่วนอันนี้เป็นมุมมองสำหรับปี 49 โดยคุณ invisible hand เช่นกันครับรวมเอาไว้อ่าน อาจจะมีคนอ่านกันเยอะแล้วแต่อยากนำมารวมไว้ครับ

ใกล้จะสิ้นปีแล้วก็คงจะถึงเวลาที่ผมจะให้มุมมองสำหรับปีหน้ากับเพื่อนๆ แล้วนะครับ ยังไงเวลาที่ใช้เขียนมีค่อนข้างจำกัดอาจจะเล่าความคิดไม่ได้ทั้งหมดหรือละเอียดมากนักแต่จะขอสรุปประเด็นดังนี้นะครับ

ผมมองว่าปัจจัยหลักที่ยังมีผลกับภาวะการลงทุนในปีหน้าคือเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน โดยผมมองว่าทั้งสองอย่างจะไปด้วยกัน หากเศรษฐกิจโลกดี ราคาน้ำมันก็จะแพง แต่หากเศรษฐกิจโลกไม่ดี ราคาน้ำมันจะลดลง
ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกดี ก็หมายความว่าการส่งออกของเราจะดี และส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการส่งออกซึ่งก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย แต่ก็จะทำให้น้ำมันแพงขึ้น ก็จะทำให้การบริโภคลดลง
ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี การส่งออกเราจะแย่ลง และส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบ แต่ราคาน้ำมันก็จะลดลง และจะทำให้การบริโภคดีขึ้นได้

ดังนั้น ผมจึงคิดว่าอาจจะเสียเวลา และออกจะยากอยู่ที่เราจะมาทำนายว่าเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร แต่หากให้ผมเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมอาจจะเดาว่าเศรษฐกิจโลกจะยังดีอยู่ และราคา commodity ขั้นพื้นฐานคือ น้ำมัน แร่เหล็ก แร่ธาตุอื่นๆ จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศจีนยังไม่อยู่ในภาวะที่มีการจ้างแรงงานเต็มที่ ( full employment ) เนื่องจากยังมีแรงงานส่วนเกินในภาคชนบทอีกมาก ดังนั้นเศรษฐกิจโลกน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากแรงขับดันของประเทศจีน

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบันก็นับว่าไม่สามารถแข็งแกร่งด้วยตัวเองได้มากนัก เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้ มีปัญหาทางการเงิน ภาระหนี้สินต่างประเทศไม่แพ้เรา แต่เค้ามีทุนที่สำคัญคือ ทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา ที่เหนือกว่าเรา ทำให้เวลานี้เกาหลีใต้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ และส่งขายได้ทั่วโลก แบรนด์ Sumsung เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมกว่าแบรนด์ญี่ปุ่นบางแบรนด์ เค้ามี แดจังกึม ที่ดังในหลายประเทศทั่วเอเชีย ในขณะที่วงการฟุตบอล เกาหลีใต้ก็เข้ารอบลึกๆ ในบอลโลก และ ปาร์ค จี ซุง ก็สามารถเล่นในสโมสรใหญ่อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้

ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่างจีน และเวียดนาม ก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาที่ผมมองว่ามีผลต่อการพัฒนาของประเทศในระยะยาวที่สุด คือ ด้านการศึกษา

ปัญหาที่นักลงทุนต่างชาติพบเวลาไปลงทุนในเมืองจีน คือ คนจีนเกือบทุกคนอยากเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้นผู้ประกอบการต่างชาติจะเจอปัญหาที่ลูกจ้างชาวจีนออกไปตั้งโรงงานหรือบริษัทแข่งกับนายจ้าง มีการ copy เครื่องจักรและ brand name ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถมีต้นทุนต่ำกว่า กระเบื้องจีนที่ราคาถูกกว่าไทยมากเพราะเค้าไม่ต้องนำเข้าเครื่องจักรเพราะมีการ copy เทคโนโลยีเครื่องจักรจากต่างประเทศ แม้กระทั่งมอเตอร์ไซค์ที่จีนก็มียี่ห้อง Yamahe Sazaki Honba ขายและไม่ผิดกฎหมาย เพราะชื่อ Honba ไม่ใช่ Honda ซักหน่อย

สำหรับประเทศเวียดนาม ผมมองว่ามีจุดเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์ แต่จุดอ่อนของเวียดนาม คือ ภูมิประเทศ เนื่องจากเวียดนามจะมีพายุไต้ฝุ่นเข้าบ่อยมาก และภูมิประเทศที่ยาวทำให้การขนส่งสินค้าในประเทศทำได้ลำบาก แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองว่าเวียดนามจะน่ากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากญี่ปุ่นเองก็มีปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติและภูมิประเทศเป็นเกาะเช่นกัน ทรัพยากรมนุษย์สำคัญกว่าครับ
ผมยังเชื่อว่าประเทศไทยยังพอจะมีที่ว่างในระบบเศรษฐกิจโลกอยู่ เนื่องจากคนไทยไม่ชอบเป็นผู้ประกอบการเท่าคนจีน รักสงบ ไม่ตุกติกนัก รวมทั้งเป็นประเทศเดียวในเอเชียแถบตะวันออกที่เป็นมิตรกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงไม่มีความบาดหมางใจกัน รวมทั้งวัฒนธรรม อาหารการกินก็เข้ากันได้ ผมเชื่อว่าคนญี่ปุ่นน่าจะชอบอาหารไทยมากกว่าอาหารพื้นเมืองของมาเลเซีย ดังนั้นบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่วางใจให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในอันดับต้นๆ และน่าจะรองจากจีนเท่านั้น เศรษฐกิจไทยในอนาคตก็น่าจะพึ่งพาการย้ายฐานการผลิตและลงทุนเพิ่มของญึ่ปุ่นมากพอสมควรในอนาคต
เมื่อเรายังพอจะมีความหวังอยู่ ดังนั้นผมยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังพอไปได้ เพียงแต่เราอย่าหวังว่า GDP จะต้องโตปีละ 8-9% เราคงจะโตได้ซัก 4-5% ซึ่งผมก็ยังมองว่าเป็นระดับที่ไม่เลวร้ายเกินไปนัก ข้อดีอย่างหนึ่งของการที่ GDP เราโตต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างจีนก็คือ ธุรกิจไทยจะไม่เจอการแข่งขันที่รุนแรงจากต่างชาตินัก บริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทก็เมินการลงทุนในประเทศไทย เช่น Walmart Home Depot Best buy และก็มีที่ถอนตัวออกไปแล้ว เช่น Orange เพราะเค้ามองว่าตลาดในประเทศไทยเล็กไปสู้ไป focus ที่จีนดีกว่า ทำให้สภาพการแข่งขันของธุรกิจหลายอย่างอยู่ในภาวะผู้แข่งขันน้อยราย หรือ Oligopoly ซึ่งเป็นผลดีกับผู้ประกอบการครับ

ผมชอบเศรษฐกิจที่เติบโต 4-5% ต่อปี มากกว่าที่จะโต 10% หรือ 0% ครับ เพราะเป็นระดับที่กำลังดี ไม่ตกต่ำ และไม่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่จนทำให้เกิดการเก็งกำไรหรือการลงทุนเพิ่มของผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างมหาศาลจนทำให้ท้ายสุดเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคตได้

แต่การที่เศรษฐกิจจะโต 4-5% นั้น แน่นอนครับ ตลาดหุ้นคงจะไม่ได้ขึ้นมากๆ เราคงจะต้องเลือกหุ้นที่เติบโตสูงกว่าระบบเศรษฐกิจครับ และในภาวะเงินเฟ้อที่ค่อนข้างจะสูงอย่างนี้ เราจะต้องเลือกหุ้นที่สามารถผลักภาระด้านต้นทุนในกับผู้บริโภคได้อีกด้วยครับ
ดังนั้น คำขวัญหลักของผมในการลงทุนปีหน้านี้คือ ต้องโตเร็วกว่าเศรษฐกิจและผลักภาระต้นทุนได้ ครับ

หากสังเกตผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ จะเห็นว่าหลายๆ บริษัทได้ประสบปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้กำไรลดลง หลายบริษัทพลิกจากกำไรเป็นขาดทุน ด้วยเหตุผลที่บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถปรับราคาขายตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นในภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน แร่ธาตุ ยังแพงอย่างนี้ ผมคงยังไม่สนใจบริษัทเหล่านี้นักเพราะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าบริษัทเหล่านี้จะกลับมาทำกำไรได้ดีในปีหน้า

หากไม่ดูเรื่อง valuation หรือ P/E เลย ผมเชื่อว่ากลุ่มธุรกิจที่จะรักษาความสามารถในการทำกำไรและมีการเติบโตของกำไรให้เห็นในปีหน้าได้ก็พอจะมีดังนี้ครับ

1 กลุ่มค้าปลีก
2 กลุ่มโรงพยาบาล
3 กลุ่มโรงแรม
4 กลุ่มร้านอาหาร
5 กลุ่มธุรกิจที่มีรายได้จากการให้เช่า เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงงาน อาคารสำนักงาน
6 กลุ่มประกัน ( บางบริษัทโดยเฉพาะบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่และบริษัทประกันชีวิต )
7 หุ้นสาธารณูปโภคบางตัว เช่น ทางด่วน หรือโรงไฟฟ้า ก็น่าจะรักษาผลกำไรได้ในระดับหนึ่งแม้ว่ากำไรจะไม่เติบโตนัก

อย่างไรก็ตาม หากดูในแง่ valuation แล้ว จะเห็นได้ว่าราคาหุ้นของหุ้นบางตัวใน 1-7 กลุ่มดังกล่าว ได้ปรับขึ้นมาพอสมควรสะท้อนความน่าสนใจในการลงทุนและความแข็งแกร่งของกิจการแล้ว ดังนั้น หุ้นที่แข็งแกร่งบางตัวตอนนี้อาจะเป็นบริษัทเกรด A แต่อาจจะยังไม่น่าสนใจที่จะลงทุน ณ ราคาปัจจุบันก็ได้ครับ ถ้าผมมีเงินมากพอ ผมเองก็คงจะไม่ซื้อ Benz E-class รุ่นใหม่ในราคาปัจจุบันครับ แม้ว่าผมเชื่อว่ามันดี แต่ราคาขายก็สะท้อนคุณภาพไปหมดแล้ว แต่หากใครจะมาขาย e-class ในราคา 50% ของราคาตลาด ถ้าตอนนั้นผมมีเงินพอ ผมก็อาจจะสนใจครับ

ผมเชื่อว่าหุ้น 7 กลุ่มนี้ หากมีอยู่และ p/e ไม่แพงไป ก็น่าจะถือลงทุนไปได้อย่างสบายใจครับ ( ยกเว้นบางตัวที่อาจจะแพงเกินไป ) และน่าจะพิจารณาเลือกหุ้นบางตัวที่ยังไม่แพงเกินไปนักสำหรับการลงทุนครับ

สำหรับกลุ่มที่ควรจะใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และข้อคิดต่างๆ นะครับ
1. หุ้นที่กำลังจะใช้ผลขาดทุนสะสมทางภาษีหมด และจะต้องเริ่มเสียภาษีในปีหน้า
2. หุ้นที่เป็นผู้ผลิตที่ลูกค้ามีขนาดใหญ่กว่าตนเองมากๆ ซึ่งหุ้นเหล่านี้อาจจะมีอำนาจต่อรองต่ำ
3. หุ้นที่ราคาวัตถุดิบมีความผันผวนมากๆ และมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้หลายๆ อย่าง เช่น โรคระบาด ภัยแล้ง
4. หุ้นที่มีข่าวว่าจะเป็นหุ้น turnaround ผมเชื่อว่าหุ้น turn around จริงๆ ได้ฟื้นกันหมดตั้งแต่ปี 2544-2546 แล้ว
5. Sector ที่มีการ IPO มากๆ ในปีนั้นๆ มักจะเป็นกลุ่มที่ underperform ในปีต่อๆ ไป เพราะในทางเศรษฐศาสตร์อธิบายได้ว่าเมื่อมี capital หรือทุน เข้าไปใน sector ใดมากๆ ก็จะทำให้เกิด excess capital หรือเงินทุนส่วนเกิน ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของ capital ทั้งระบบลดลง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2547 หุ้น IPO เป็นอสังหาฯ และวัสดุก่อสร้างเยอะมาก ปี 2548 ต้นปีหุ้น IPO เป็น ยานยนต์ เยอะมาก

ปีหน้าผมมองว่าน่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่ดีสำหรับหุ้นค้าปลีกครับ ตัวที่ผมคิดว่าหากเทียบศักยภาพของธุรกิจและราคาในปัจจุบันก็น่าจะเป็น IT ( IT City ) และ BIGC ครับ คงจะเล่ารายละเอียดในกระทู้ต่อไปครับ แต่ระหว่างนี้หากเพื่อนๆ สนใจก็ช่วยกันหาข้อมูลและมาแลกเปลี่ยนกันก็จะดีมากเลยครับ

ส่วน TICON มุมมองก็ยังเหมือนเดิมครับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงครับ

ส่วนระหว่างครึ่งปีแรกหากมีหุ้นน่าสนใจเพิ่มเติมผมอาจจะเข้าไปเล่าในกระทู้ ค้นฟ้าคว้าดาว ข้างบนครับ

การลงทุนในหุ้นก็เป็นสิ่งที่น่าจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าการฝากเงินในระยะยาวครับ แต่มันก็ไม่ใช่ผลตอบแทนที่จะได้มาโดยง่ายครับ ก็ต้องศึกษา หาข้อมูลอย่างสม่ำเสมอครับ ต้องคิดเร็ว ทำเร็วกว่าคนอื่นอย่างน้อย 1 ก้าวเสมอครับ หากทำอะไรพร้อมคนอื่น รู้พร้อมคนอื่น หรือคิดเหมือนกับที่ตลาดคิด โอกาสขาดทุนจะมากกว่ากำไรครับ

ผมก็มองว่าปีหน้าก็จะเป็นอีกปีที่ยากลำบากเหมือน 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ครับ ดังนั้นการเลือกหุ้นให้ถูกตัวก็ยังเป็นสิ่งสำคัญครับ แต่หากมันจะเป็นปีที่ดีของตลาดรวมก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ครับ อย่างน้อยเราระมัดระวังไว้ก่อนน่าจะดีกว่าครับ ยังไงก็ขอให้เพื่อนๆ ทุกคนโชคดี ประสบความสำเร็จในการลงทุน และมีสุขภาพแข็งแรงครับ แล้วจะ update กันอีกครั้งในครึ่งหลังของปีหน้าหรือเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญครับ


คุณภาพของกำไร : คเชนทร์ เบญจกุล (Invisible Hand)

เพื่อนๆหลายคนอาจจะเคยสงสัยว่า หุ้นบางตัวทำไม p/e ต่ำมาก แต่เมื่อซื้อไปแล้ว ราคาหุ้นก็ไม่ไปไหน บางตัวอาจจะต่ำกว่าพื้นฐานจริงๆ แต่หลายๆตัวอาจจะซื้อขายอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมแล้ว เพราะตัวที่กำหนด p/e ปัจจัยหนึ่งคือ “ คุณภาพของกำไร ” ครับ

คุณภาพของกำไรจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้ครับ

1. แนวโน้มของความสม่ำเสมอของกำไร หุ้นบางตัวอาจจะมีกำไรดีเพียงปีใดปีหนึ่งหรือชั่วครั้งชั่วคราว และมีผลการดำเนินงานย้อนหลังไม่สม่ำเสมอ เช่น บางปีกำไรน้อย บางปีกำไรมาก หรือบางปีขาดทุน บางปีกำไร หุ้นประเภทเหล่านี้มีคุณภาพของกำไรต่ำครับ หุ้นเหล่านี้มักจะเป็นหุ้นวัฎจักร ที่มีผลการดำเนินงานขึ้นลงตามรอบของราคาผลิตภัณฑ์ หรือเป็นหุ้นที่มียอดขายแปรผันตามเศรษฐกิจมากๆ หรืออาจจะเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูง เช่น หุ้นที่ต้องใช้แร่ธาตุเป็นสัดส่วนสูงในการผลิต หรือหุ้นการเกษตรที่กำไรในแต่ละปีมีความสัมพันธ์กับราคาวัตถุดิบ ดินฟ้าอากาศ หรือโรคระบาด หุ้นเหล่านี้ถือว่ามีคุณภาพของกำไรต่ำครับ

ส่วนหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรสูง คือหุ้นที่มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่องของกำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำไรสามารถเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย หุ้นเหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่มีความนิยมในตัวแบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์สูงและลูกค้ามักจะมีการซื้อซ้ำ หรือมีต้นทุนในการ switching ไปใช้สินค้าคู่แข่งสูง นอกจากนี้ยังรวมถึงหุ้นที่มีฐานรายได้มั่นคงจากการให้เช่า ซึ่งหมายความว่าหากลูกค้าเดิมยังอยู่ รายได้ในปีนี้จะเป็นฐานของปีต่อไป และหากมีลูกค้าเพิ่มหรือมีการขยาย ก็จะทำให้ฐานรายได้เพิ่มขึ้นไปตลอด

2. รูปแบบการรับรู้รายได้ หุ้นบางตัวมีการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรสูง แต่รายได้ทั้งหมดเป็นลูกหนี้การค้า คือ ให้เครดิตกับลูกค้า หุ้นประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพของกำไรต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากระยะเวลาที่ให้เครดิตกับลูกค้านานกว่าระยะเวลาการได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้การค้าด้วย (A/R day ต่ำว่า A/P day) หุ้นประเภทเหล่านี้เวลารายได้เพิ่มขึ้นจะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง และมีความเสี่ยงจากการเกิดหนี้สูญในอนาคตด้วย นอกจากนี้ หากหุ้นดังกล่าวมี net margin คืออัตรากำไรเทียบยอดขายต่ำ ก็จะยิ่งทำให้คุณภาพของกำไรแย่ลงไปอีก เนื่องจากแสดงว่าการจะได้มาซึ่งกำไรเพิ่มขึ้น 1 บาท จะต้องใช้ยอดขายเพิ่มจำนวนมาก ซึ่งต้องหมายความว่าจะใช้เงินทุนหมุนเวียนสูงกว่าหุ้นที่มี net margin สูง

หุ้นที่มีการรับค่าสินค้าและบริการเป็นเงินสด หรือจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือสูง เช่น จากผู้ให้บริการบัตรเครดิต จะเป็นหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรสูงกว่า

3. หุ้นที่ต้องการใช้เงินลงทุนสูงในการเพิ่มกำไร ธุรกิจบางประเภทหากต้องการเพิ่มกำไร จะต้องมีการลงทุนใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้กำไรที่ได้ในปีปัจจุบันจะต้องถูกเก็บไว้สำหรับลงทุนใหม่ๆตลอดเวลาเพื่อเพิ่มยอดขาย หุ้นเหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่เรียกว่า capital intensive ถือว่ามีแนวโน้มของคุณภาพกำไรที่ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นธุรกิจที่การขยายโครงการให้ผลตอบแทนโดยวัดจาก IRR หรือ ROA ไม่สูงนัก เมื่อผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำ ก็จะทำให้ต้องใช้เงินทุนสูงในการสร้างกำไรที่เพิ่มขึ้น 1 หน่วย หุ้นดังกล่าวมักจะต้องมีต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น ดังนั้นหุ้นประเภทนี้ หากรายได้ลดลงเมื่อไหร่ กำไรจะลงเร็วมาก เพราะต้นทุนคงที่ที่เพิ่มขึ้นไปแล้วจะไม่ลดลง หุ้นประเภทดังกล่าวมักจะต้องมีเงินกู้ระดับสูงตลอดเวลา จึงทำให้มีความเสี่ยงทางการเงินสูง นอกจากนี้จะส่งผลต่ออัตราการจ่ายเงินปันผลด้วย กล่าวคือ หุ้นประเภทดังกล่าวมักจะมี p/e ต่ำ แต่มี dividend yield ต่ำเช่นกัน หุ้นประเภทดังกล่าวมักจะเป็นหุ้นโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง

หุ้นที่มีคุณภาพของกำไรที่ต่ำมากไปอีกคือ หุ้นที่จะต้องมีการลงทุนตลอดเวลาเพื่อรักษารายได้และกำไรให้คงที่ หุ้นประเภทนี้มักจะเป็นหุ้นที่กระบวนการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเร็วมาก ดังนั้นหุ้นประเภทดังกล่าวนอกจากกำไรจะแทบไม่เพิ่มแล้ว ปันผลก็จะอยู่ในระดับต่ำตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการลงทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหรือก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทันอีกด้วย

หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่า หุ้นธนาคาร ก็เป็นหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ ปัจจุบันธนาคารมีต้นทุนเงินฝาก 2% โดยประมาณ และปล่อยกู้ได้เฉลี่ย 6% ดังนั้นผลตอบแทนของสินทรัพย์หลังหักค่าใช้จ่ายจะอยู่ประมาณ 3% ดังนั้น การที่ธนาคารจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 3 บาท จะต้องเพิ่มสินทรัพย์ถึง 100 บาท โดยสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นก็มีความเสี่ยงด้วยเพราะเป็นลูกหนี้ธนาคาร ดังนั้นก็เท่ากับว่าหากลูกหนี้ 100 บาท ที่เพิ่มมานั้น สามารถชำระได้เพียง 50 บาท ก็เท่ากับว่า ธนาคารต้องทำงานเพื่อชดเชยเงินให้กู้ที่หายไปถึง 16 ปี

หุ้นที่มีคุณภาพของกำไรสูงคือ หุ้นที่สามารถเพิ่มรายได้และกำไร โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มหรือลงทุนค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น

ข้อสังเกตของหุ้นที่มีคุณภาพของกำไรต่ำก็คือ แม้ว่า p/e จะต่ำ แต่ก็จะมีอัตราการจ่ายปันผลที่ต่ำ และจำนวนหนี้สินไม่ลดลง หรือเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และท้ายสุดอาจจะต้องเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาขยายกิจการ และหุ้นทึ่มีคุณภาพของกำไรต่ำ หลายบริษัทไม่สามารถยืนได้ในระยะยาวๆ วันหนึ่งมักจะพบกับปัญหาต่างๆ เช่น หนี้สูญ ภาวะถดถอยของธุรกิจที่ทำให้ต้องมีปัญหาด้านการชำระเงินกู้ หรือการลดลงของรายได้หรือกำไรอย่างรวดเร็วที่เกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาวัตถุดิบ ปัจจัยด้านธรรมชาติหรือโรคระบาดต่างๆ ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของกำไร ยังมีประเด็นปลีกย่อยอยู่บ้าง และผมอาจจะเสริมอีกที หวังว่ากระทู้นี้คงจะเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ทำไมหุ้นบางตัว p/e ต่ำแต่ไม่น่าซื้อ หรือหุ้นบางตัว p/e สูง แต่ทำไมยังขึ้นไปอีกเรื่อยๆครับ

วันอังคาร, สิงหาคม 31, 2553

Inactive investor

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ตัวเองรู้สึกว่าเฉี่อยชาหรือขี้เกียจกับการหาหุ้นลงทุนเหลือเกิน
คงเป็นเพราะปัจจัยหลายๆอย่างคือ

1) งานประจำที่ชุกมาก
2) หุ้นที่ถืออยู่ราคายังไม่ถึงเป้าหมาย เลยไม่รู้จะขายทำไม
3) หุ้นที่สนใจเมื่อเทียบมูลค่ากระแสเงินสดเฉลี่ยในอดีตกับ Market cap ยังไม่มีตัวไหนน่าดึงดูด
4) ข้อนี้สำคัญที่สุด คือไม่มีตังค์ลงทุน...ฮ่า

เลยขอขึ้นต้นบทความว่า Inactive investor หรือนักลงทุนผู้เฉี่อยชา..

ช่วงนี้เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวเองตอนนี้เนื่องจาก 4 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น แต่ปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นที่ว่า ตอนนี้หาหุ้นที่มีกระแสเงินสดอิสระงามๆแต่ราคาถูกๆแทบไม่เจอ

แตกต่างจากตอนหาหุ้นเมื่อช่วงเดือนเมษากันลิบลับ

ผมว่าบางครั้งการอยู่เฉยๆเพื่อรอมูลค่าของหุ้นที่เราลงทุนงอกงามออกมา ก็เป็นความสุขเล็กๆอย่างนึงเหมือนกันนะครับ เมื่อเรารู้ตัวว่าเวลาของเราไม่ได้มี full time เหมือนนักลงทุนมืออาชีพ ดังนั้น scope ความรู้ของหุ้นเราก็จะต้องแคบลงมาด้วยเหมือนกัน

และหากต้องการผลตอบแทนที่สูงๆ แน่นอนว่าการซื้อโดยคำนึงถึงส่วนต่างที่เผื่อมากๆนั้น อาจจะหาไม่ได้ในช่วงเวลาแบบนี้

ดังนั้น บทสรุปของผมก็คือ ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังสนุกสนานและเพลิดเพลินกับตลาดหุ้นที่ขึ้นเอาๆ Inactive investor อย่างผมก็คงทำได้แค่สะสมเงินทุนเพื่อรอช่วงเวลาที่มี MOS ที่เพียงพอ และคอยมองดูหุ้นที่เราลงทุนแต่ยังไม่ถึงมูลค่าตามเป้าหมายเติบโตทีละน้อยๆอย่างมีความสุข

วันพุธ, มิถุนายน 16, 2553

TR หุ้นสองบุคลิก

หุ้น TR หรือบริษัทไทยเรยอน เป็นหุ้นที่ผมชื่นชอบมากในแง่ของการ "หาเงิน" แต่ก็เป็นหุ้นที่ผมไม่ชอบมากอีกเหมือนกันในแง่ของการ "ใช้เงิน"

ในด้านการ "หาเงิน" model ของ TR จัดได้ว่าเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง เป็นเจ้าเดียวในประเทศที่ผลิตเส้นใยเรยอน เมื่อครั้งไปดูโรงงานก็พบว่ามีการบริหารจัดการที่ดี ผู้บริหารดูมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและพยายามลดต้นทุน

ในด้านการ "ใช้เงิน" สามารถแบ่งเป็นสองส่วนคือ
ส่วนการใช้เงินลงทุนเครื่องจักรเพื่อแทนเครื่องเก่าหรือสร้าง line การผลิตใหม่และ
ส่วนที่สองคือการลงทุนไปยังบริษัทในเครือ

ประเด็นแรกไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเป็นการทดแทนเครื่องจักรเก่า ซึ่งมีแต่จะทำให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากรายได้ของไลน์ใหม่และต้นทุนที่ประหยัดจากเครื่องจักรใหม่

แต่ประเด็นที่สองนับว่าเป็นจุดบอดที่ทำให้ผมคิดว่าการลงทุนใน TR อาจจะไม่คุ้มค่า (หรือต้องต่อราคามากหน่อย) ก็เพราะว่าการเอาเงินไปลงทุนในบริษัทในเครือที่สูญเปล่าโดยไม่มีอะไรตอบแทนกลับมาเป็นเงินสดนอกเสียจากสิ่งที่เรียกว่า "ส่วนแบ่งกำไร" ทางบัญชี

ยกเว้นการลงทุนใน TCB เพียงตัวเดียวที่ดูดีมี return on investment มากกว่า 10% จากเงินปันผล นอกนั้นการลงทุนในบริษัทอื่นๆดูเหมือนจะเป็น conflict of interest ระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่กับผู้ถือหุ้นรายย่อย
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สามารถขยายกิจการในต่างประเทศอย่างง่ายดาย โดยการใช้กระแสเงินสดที่ TR สร้างขึ้นมาไปซื้อหุ้น ในขณะที่หนทางในการนำเงินจากธุรกิจใหม่ที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยตรงจากตลาดหลักทรัพย์ สามารถจ่ายผ่านช่องทางอื่นๆได้ง่ายๆ เช่น ค่า Management fee หรือ Royalty fee
ตรงนี้เป็นสิ่งที่รายย่อยไม่สามารถเข้าถึงและเผลอๆ ชาตินี้ทั้งชาติอาจจะไม่ได้เห็นอะไรกลับมาจากการลงทุนในบริษัทย่อย นอกเสียจาก "ส่วนแบ่งกำไร" ทางบัญชี

ปล. สัดส่วนเงินลงทุนในบริษัทย่อยของ TR ในงบดุลแทบจะมีสัดส่วนเกือบ 50% ของสินทรัพย์รวมเข้าไปแล้ว

ต่อไปนี้เป็น comment ที่ผมเคย post ในกระทู้ร้อยคนร้อยหุ้นของหุ้น TR เมื่อวันที่ 28 Nov 2009 ระหว่างรองบปีออกครับ


EPS คงจะผันผวนน้อยลงนะครับ มีสาเหตุหลักคือ

1) เดือนตุลาคม 2552 มีการเปลี่ยนนโยบายการคิดต้นทุนวัตถุดิบจาก FIFO เป็น Moving avg.

2) นโยบายการขายของและการสั่งวัตถุดิบที่ match กันจาก Annual report (แต่ข้อนี้มีอยู่ก่อนแล้ว)

3) Trend ในอดีตที่ราคาขายกับราคาวัตถุดิบหลักมักไปด้วยกัน (แต่ให้ผลที่ดีมากกว่าถ้าราคาขายขึ้น ถึงแม้ต้นทุนจะขึ้นด้วยก็ตาม)

4) ถ้าในอนาคต Modal ที่มีส่วนต่างกำไรสูงกว่า สามารถเพิ่มสัดส่วนได้อย่างต่อเนื่อง (จะช่วยไป offset ในกรณีที่เป็น trend ราคา rayon --> Price variance ไม่ดีแต่ Mixed variance ดี)

แต่แปลกดีจังครับ TR นี่

กำไรต่ำกว่าปีที่แล้วตั้งเยอะ

แต่ Free cash flow กลับสูงสุดในรอบ 4 ปี

และคิดว่าจะทำ New high ในปีหน้าและปีหน้าๆจากการที่ราคาขายสูงขึ้นหนึ่งเด้งและการลงทุนที่ลดลง 1 เด้ง (ปีนี้ลงทุนแค่ 60% ของค่าเสื่อมเอง)

Operating cash flow ก็ไม่สะทกสะท้าน

เห็นทีใครว่า TR เป็น cyclical stock นี่ คงใช้ไม่ได้ถ้ามองในมุมของกระแสเงินสด
(รึเปล่า)

แต่ก็มีข้อเสียหลายข้อนะครับเจ้า TR นี่

1) Working capital สูงประมาณ 20% ของยอดขายทำให้กระแสเงินสดที่ได้จากการเติบโตถูกสะกัดดาวรุ่งด้วยการเพิ่มขึ้นของ Working capital ซึ่งท้ายสุดก็เป็นสาเหตุ classic ที่จะตอบผู้ถือหุ้นว่าต้องสำรองเงินไว้ใช้ จึงไม่สามารถจ่ายเงินปันผลสูงๆได้ ซึงสาเหตุมาจากการสั่งซื้อวัตถุดิบเก็บ stock 2 เดือนแต่จ่ายเงินให้เจ้าหนี้ 2 สัปดาห์และให้ลูกหนี้ชำระเงินยาวนานถึงเดือนครึ่ง (ทั้งๆที่เป็นผู้ขาย Rayon เจ้าเดียวในประเทศและมีสัดส่วนยอดขายในประเทศกว่าครึ่งของยอดขายรวม)

2) ค่าใช้จ่ายในการสร้างสัมพันธ์และประกันอนาคตสูง ถึงสูงมาก เพราะท่านเล่นเอาทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกือบครึ่งนึงของ asset ไปประกันลูกพี่อินโด (อันนี้ยากจะยอมรับ dividend ต่อเงินลงทุนยังกะฝากแบงค์), ประกันเชื้อเพลิงจากเจ้าดำ (แต่อันนี้พอรับได้เพราะ dividend ดี) และตัวแสบสุดๆก็บริษัทที่มีชื่อคล้ายๆกับบริษัทแม่ที่แม้แต่ dividend ก็ยังไม่ได้รับซักบาท (แถมไม่รู้ด้วยว่าเจ้านี่ช่วยอะไรให้ TR บ้าง) และล่าสุดประกันอนาคตอย่างไกลที่จีนและลาว

เหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินปันผล TR ไม่ไปไหนซักที

ไม่ทราบว่าวิเคราะห์ถูกหรือผิดอย่างไร โปรดชี้แนะด้วยครับ

ปล. ยังสงสัยอยู่ว่าหากพี่ท่านจะขายหุ้นอินโดที่เป็นลูกค้าออกไป เค้าจะไม่ซื้อกับ TR รึเปล่า หรือหากพี่ท่านขายหุ้นบริษัทที่ชื่อคล้ายๆแม่ออกไป จะส่งผลอะไรกับ TR บ้าง เพราะข้อตกลงการซื้อขายก็เป็นไปตามราคาตลาดอยู่ดี

ผมชอบมากกว่าหากผู้บริหารไม่ลงทุนแบบซื้อหุ้นบริษัทร่วม แต่ควบรวมเป็นบริษัทเดียวกัน แต่ต่างสาขาน่ะครับ (อันนี้ผมคิดเองเล่นๆ ไม่ทราบว่าเป็นไปได้รึเปล่า)

เพราะการถือหุ้นบริษัทร่วม สิ่งที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ก็คือกำไรทางบัญชีที่ไม่รู้ว่าจะกลับมาเป็นเงินสดถึงมือเราเมื่อไหร่ นอกจากจะมีปันผลที่เหมาะสมเช่น TCB โดยกระแสของเงินจะเป็นแนวนี้

TR --> สร้างเงินสด --> เอาไปลงทุนในบริษัทร่วมโดยการถือหุ้นเพิ่ม --> ผู้ถือหุ้นในบริษัทร่วมก่อนหน้าซึ่งก็คือผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เงินเข้าเป๋า หรือนำไปขยายกิจการต่อไปเรื่อยๆ --> บริษัทร่วมเติบโตมีกำไร --> แสดงในส่วนแบ่งกำไรในงบ TR --> พอโตจนได้ที่ แทนที่จะจ่ายปันผล บริษัทแม่กลับสร้างกิจการใหม่ขึ้นมา --> บริษัทร่วมของเรานี้ก็เอาไปลงทุนต่อในบริษัทร่วมใหม่นั้น --> ไม่รู้จบ


จนกว่าจะมีกรณีแบบ TCB คือได้เป็นงินปันผลคืนกลับมา ไม่เช่นนั้น ก็เหมือนกับการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้บริษัทแม่เท่านั้นล่ะครับ ในขณะที่ผู้ถือหุ้น TR ได้เพียงกำไรทางบัญชีที่ไม่มีวันจะกลับมาเป็นเงินสด หากบริษัทแม่ยังสร้างบริษัทใหม่และใช้เงินทุนจากบริษัทร่วมด้วยกัน แทนที่จะระดมทุนจากแหล่งอื่นๆ

ผลก็คือ wealth ของผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ถูกโอนอย่างละม่อม ทีละน้อย ทีละน้อย ไปที่บริษัทแม่ โดยบริษัทแม่ไม่จำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่เลย (มองในแง่ร้ายไปรึเปล่า)

จนกว่าซักวันหนึ่ง (ไม่รู้ว่ากี่สิบปีหรือกี่ร้อยปี) ที่บริษัทแม่จะหยุดการเติบโตหรือหยุดกิจการแล้วจ่ายเงินปันผลกลับมา

ในขณะที่การ take over มาเป็นบริษัทเดียวกันแบบ vertical integration จะทำให้สร้างมูลค่าได้โดยตรง เพราะช่วยลดต้นทุน (ปัจจุบันบริษัทยังต้องซื้อจากบริษัทร่วมในราคาตลาด) หรือเพิ่มรายได้ทางตรง ซึ่งผลออกมาก็จะเป็นเงินสดที่ได้ใน TR เองดัง flow นี้

TR --> สร้างเงินสด --> ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเยื่อหรืออื่นๆโดยเป็นชื่อตัวเอง --> ต้นทุนลดลง --> กำไรเงินสดสูงขึ้น --> เงินสดสูงจนล้น --> ปันผลออกมา --> เงินที่เหลือไปหาที่ลงทุนต่อ --> ต้นทุนต่ำลงอีกหรือรายได้เพิ่มขึ้นอีก --> เงินสดสูงขึ้น --> เพิ่มปันผลอีก

จะเกิดอะไรขึ้นครับ หากบริษัทร่วมที่ลาวที่เพิ่งปลูกต้นไม้มีกำไรแต่ขยายตัวต่อไปเรื่อยๆโดยไม่มีการจ่ายปันผลกลับมาเป็นเวลาหลายๆปี ซึ่งเค้าเองสามารถโตได้ด้วยการเพิ่มทุนจากเงิน TR ที่คอยซื้อหุ้นเพิ่มเรื่อยๆ ทุกปีๆ

คำตอบก็คือ เงินสดหรือกำไรใน Retain earning ของ TR จะเป็นแหล่งเงินทุนชั้นดีให้บริษัทร่วม และจะแสดงให้เห็นในงบดุลเงินลงทุนของบริษัทร่วมที่โตเอาๆ แต่กลับไม่มีเงินปันผลตอบแทนกลับมาเลย โดยกำไรทางบัญชีส่วนหนึ่งจะได้มาจากส่วนแบ่งเหล่านี้ (ในขณะที่ปันผลยังต่ำเตี้ยเหมือนเดิม เพราะต้องคอยเอาเงินไปป้อนให้บริษัทร่วม) สังเกตได้จากกำไรทางบัญชีสูงขึ้นเรื่อยๆจากส่วนแบ่งบริษัทร่วม แต่เงินสดอิสระยังเท่าเดิม

ในขณะที่การที่บริษัท TR ไปเป็นคนปลูกป่าที่ลาวเอง จะให้ผลที่แตกต่างกัน นั่นคือกำไร TR จะสูงขึ้นเนื่องจากได้ต้นทุนที่ถูก ผลตอบแทนจะได้กลับมาเป็นเงินสดที่สูงขึ้นในงบดุล ไม่ใช่ เงินลงทุนในบริษัทร่วม และแน่นอนว่า เงินสดเหล่านี้จะกลับมาตอบแทนกลับให้ผู้ถือหุ้น TR โดยตรงในรูปแบบเงินปันผล

นี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่การประเมินมูลค่ากิจการ ควรประเมินจากกระแสเงินสดอิสระ ไม่ใช่กำไรทางบัญชีที่สามารถโยกย้ายถ่ายเทให้สวยหรูโดยที่นักลงทุนรายย่อยไม่รู้ตัว

ผิดถูกอย่างไร ชี้แนะด้วยครับ

อ้อ อีกวิธีหนึ่งที่ผมคิดว่าบริษัทจะสามารถถ่ายเทเงินสดแบบเนียนๆไปให้บริษัทร่วมก็คือการซื้อขายโดยกำหนด term การชำระเงินครับ

เช่น ถ้า TR ต้องซื้อเยื่อกระดาษจากบริษัทที่แคนาดา แต่เนื่องจากน้องแคนาดากำลังเติบโตและต้องการเงินสดไปลงทุนต่อเนื่อง จึงขอให้ TR จ่ายเงินให้เร็วๆหน่อย จากเดิมที่ถ้าซื้อที่อื่น TR จะจ่ายเงินภายใน 60 วัน พอเป็นน้องแคปุ๊บ บริษัทใจดี 7 วันก็โอนเงินให้เลย งานนี้น้องแคสบายเพราะไม่ต้องกู้เงินเพิ่มซักนิด

คนที่ทำธุรกิจจะรู้ซึ้งดีถึงเจ้าตัว working capital ว่าสำคัญต่อการเติบโตขนาดไหน การที่ TR ยอมจ่ายเงินให้น้องแคเร็ว จะทำให้บริษัทต้องอั้นเงินไว้ก้อนหนึ่งเพื่อมาหมุน ส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้มากเท่าที่ควร

หรือถ้าน้องอินโดที่เป็นลูกค้า TR บอกว่า เค้าต้องการเงินหมุนเวียนเพิ่มขอให้ยืดระยะเวลาชำระหนี้จากปกติ 30 วันเป็น 60 วัน ก็จะส่งผลให้ TR ต้องอั้นเงินไว้อีกก้อน เพราะเงินไหลเข้ามาช้าลง

การที่บริษัทมี % working capital สุงๆจะทำให้เป็นอุปสรรคอย่างมากในการเติบโต เพราะยิ่งโต จะยิ่งต้องการเงินหมุนมากขึ้น

ผิดถูกอย่างไร รบกวนชี้แนะด้วยครับ

ปล. ผมมีหุ้นนิดนึงนะครับ ไม่อยากให้รีบซื้อกันจนราคาสูงเกินไป

วันอังคาร, มิถุนายน 15, 2553

การประเมินมูลค่าหุ้นสไตล์ doodeemak

หลังจากทนเสียงเรียกร้องอันล้นหลาม(ของตัวเอง) ไม่ไหว วันนี้จึงได้ลองเขียนบทความการประเมินมูลค่าหุ้นสไตล์ doodeemak ซักทีนะครับ

จากการอ่านหนังสือบ้าง (ไม่อ่านบ้าง) จากบทความต่างๆบ้าง พบว่าวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นนั้นมีมากมายหลายวิธี (แล้วมรึงจะพูดทำไมฟะ) แต่โดยหลักๆแล้ว น่าจะสามารถแบ่งเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้

1) วิธีเปรียบเทียบกำไรกับชาวบ้านและตัวเองในอดีตกับราคาในตลาด
นั่นคือ ดูว่ากำไรที่บริษัทได้สร้างขึ้นมา เมื่อเทียบกับราคาในปัจจุบันแล้วถูกหรือแพง ซึ่งก็คือ P/E ratio นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น บริษัท กอไก่ มีกำไร 10 บาทต่อปี มีมูลค่าตลาดรวม 100 บาท อย่างนี้ก็จะได้ P/E = 100/10 ก็คือ 10 เท่า
หากเปรียบเทียบกับ P/E ในอดีตของบริษัทในปีก่อนๆ บริษัทเคยมี P/E อยู่ที่ประมาณ 15-20 เท่า อย่างนี้ก็แสดงว่าหุ้นบริษัทนี้ถูก
แต่วิธีนี้จะต้องระวังคือกำไรที่นำมา ควรจะเป็น "กำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต" ดังนั้นในกรณีหุ้นที่เป็นวัฎจักร ถ้าหากเราไปหลงซื้อตอนที่ PE ต่ำๆโดยคิดว่ามันถูก โดยหารู้ไม่ว่า มันถูกเพราะกำไรที่สูงเกินจริงในอดีต ทีนี้พอกำไรในอนาคตมันตกลง ก็กลับกลายเป็นว่า PE กระโดดขึ้นสูงไปมากและอาจจะทำให้ราคาตกลงในที่สุด
ทั้งนี้เราอาจเปรียบเทียบ P/E กับอุตสาหกรรมหรือบริษัทใกล้เคียงได้ตามความพอใจ (แต่จะยากซักหน่อย เพราะตลาดให้ PE ที่ควรจะเป็นของบริษัทแตกต่างกัน ตามโอกาสของการเติบโตของกำไรที่แตกต่างกัน)

ดังนั้น วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นโดยการใช้ PE ratio ก็คือการเอา PE ที่เหมาะสมของบริษัทนั้นๆ คูณด้วยกำไรต่อหุ้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคูณด้วย safety factor หรือ margin of safety เช่น อาจจะเผื่อความผิดพลาดไว้ 30% ก็คูณด้วย 0.7 เป็นต้น

วิธีนี้มีข้อดีคือ เข้าใจง่ายแต่ก็มีข้อควรระวังคือ
- PE ที่เหมาะสมนั้น อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลและความคาดหวังของตลาดต่ออนาคตของบริษัท
- กำไรที่ประมาณการนั้นต้องใช้ forward PE หรือกำไรในอนาคต ซึ่งควรจะเป็นกำไรที่เราสามารถล่วงรู้ได้ก่อนที่ราคาในตลาดจะตอบสนอง

2) วิธีเปรียบเทียบมูลค่าผู้ถือหุ้นทางบัญชีกับราคาในตลาด
คล้ายกับ PE แต่จะเป็นการมองมูลค่าส่วนผู้ถือหุ้นแทนกำไรหรือก็คือ P/BV (Price to Book value) โดยข้อแตกต่างจาก PE ratio ที่เห็นได้ชัดคือราคาที่ประเมินได้ จะอิงจากสินทรัพย์เป็นหลักซึ่งมีข้อดีคือมีความแน่นอนสูงไม่เหมือนกับกำไร แต่มีข้อเสียคือ การประเมินมูลค่า book value หรือส่วนของผู้ถือหุ้นนั้น ควรจะต้องมีการปรับปรุงสินทรัพย์ให้เป็นมูลค่าที่แท้จริง และถึงแม้ P/BV จะต่ำแต่หากผู้บริหารไม่คิดจะขายสินทรัพย์หรือนำสินทรัพย์ไปก่อให้เกิดประโยชน์ มูลค่าหรือราคาของหุ้นก็อาจจะยังคงไม่ไปไหน ส่วนวิธีการประเมินมูลค่าหุ้น ก็เลียนแบบ PE เลยครับนั่นคือดูว่า P/BV ในอดีตของบริษัทกับปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้า P/BV ในปัจจุบันต่ำกว่าในอดีตมากๆ ก็แสดงว่าถูก (แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังคุณภาพของสินทรัพย์ด้วยนะครับ)

3) วิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ
อันนี้ยากมากครับ สามารถหาอ่านได้จากตำราเล่มหนาๆ
ข้อดีคือ เป็นวิธีที่ใกล้เคียงที่สุดในการประเมินหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ เพราะคำนึงถึงเงินสดที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับ แต่มีข้อเสียคือสมมิตฐานที่นำมาใช้ หากเปลี่ยนนิดเดียว ก็จะทำให้มูลค่าหุ้นที่คำนวนได้เปลี่ยนไปมาก

โดยสรุปแล้วตามความเห็นของผม ทุกวิธีที่กล่าวมา ยากเกินไปทั้งนั้นเลย (แล้วมรึงจะพิมพ์มาตั้งนานหาพระแสงอะไร) ซึ่งการประเมินมูลค่าหุ้นนั้น ไม่น่าจะยากขนาดนั้น ก็เลยมาคิดว่าจะประเมินแบบไหนดีที่จะทำให้เรารู้สึกสบายใจในการถือหุ้นลงทุนโดยมีกฎเหล็กคือ "เงินต้นต้องปลอดภัย"

ผมจึงนั่งคิด (นอนคิดเป็นบางครั้ง) ว่าบริษัทลักษณะแบบไหนที่เวลาเราลงทุนแล้วเรารู้สึกปลอดภัยม้ากมาก ว่าเงินทุนเราจะไม่หล่นหายแถมเข้าซื้อในราคาถูก

คำตอบที่ได้จากเสียงเรียกของหัวใจก็คือ "บริษัทที่มีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกสม่ำเสมอและราคาถูกเมื่อเทียบกับราคาตลาด"

1) "บริษัทที่มีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกสม่ำเสมอ"

นั่นคือเป็นบวกและสม่ำเสมอในแนวที่สูงขึ้น คือไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุกๆปี แต่ขอให้มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นหรือคงที่
เพราะเวลาเราลงทุนอะไรลงไป เราย่อมต้องการให้กิจการนั้นมีเงินสดไหลกลับออกมาให้เรา เราถึงจะรู้สึกปลอดภัย

2) ราคาถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาด
ผมคิดง่ายๆว่า ขอคืนทุนภายในไม่เกิน 3-4 ปีกับธุรกิจตะวันตกดิน และคืนทุนภายในไม่เกิน 10 ปีสำหรับกิจการที่มีแนวโน้มยังโตได้อีก

ตัวอย่างเช่น กระแสเงินสดอิสระประมาณการมีมูลค่า 200 ล้านบาทและบริษัทไม่มีหนี้สิน มูลค่าตลาดของบริษัทที่ผมยอมซื้อในกรณีที่เป็นธุรกิจตะวันตกดินต้องไม่เกิน 600 ล้านบาท จึงจะรู้สึกปลอดภัย เป็นต้น

แต่หากเป็นกิจการที่มีแนวโน้มโตขึ้นๆ อาจจะยอมยืดเวลาคืนทุนออกไปเป็น 10 ปี ดังนั้นมูลค่าตลาดที่ผมยอมซื้อก็คือ 2000 ล้านบาท (โดยมองว่า 200 ล้านบาทในปัจจุบัน น่าจะเพิ่มขึ้นๆเรื่อยๆในอนาคต ซึ่งจะทำให้ราคาที่แพงในวันนี้ ถูกในวันหน้า)

ซึ่งตรงนี้ก็เป็นศาตร์และศิลป์ของแต่ละท่านในการประเมินมูลค่ากระแสเงินสดอิสระของกิจการ เพราะต้องมีการดูตัวเลขจริงในอดีตประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจและความสามารถทางการแข่งขันประกอบด้วย (หากมีโอกาสจะได้กล่าวถึงในบทความถัดๆไปนะครับ) จะเห็นได้ว่า วิธีนี้เราไม่ต้องคำนวนค่า WACC อย่างวิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ รวมทั้งไม่ต้องคอยประมาณกำไรที่จะเกิดในระยะสั้นๆแบบ PE และไม่ต้องประเมินมูลค่าสินทรัพย์ตาม P/BV อีกต่างหาก แต่วิธีจะมีข้อจำกัดตรงที่ กิจการที่มีกระแสเงินสดอิสระไม่สม่ำเสมอ ก็อาจจะไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งบางครั้ง อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสทองก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนสไตล์ doodeemak ต้องรักษากฎเหล็กไว้นะครับ คือลงทุนแล้วรู้สึกปลอดภัย เงินต้นไม่หาย

จากนั้นก็เอามูลค่าตลาดของหุ้นในใจที่ได้หารด้วยจำนวนหุ้นในตลาด เพียงเท่านี้ก็จะได้ราคาหุ้นในใจสไตล์ doodeemak แล้วล่ะครับ

วันจันทร์, มิถุนายน 07, 2553

วันประกาศอิสรภาพแห่งการลงทุนในหุ้น

วันสองวันมานี้ มีข่าวในแง่ลบค่อนข้างมากใน web Thavi ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ราคาหุ้นที่ได้จากการพบปะกับเซียนนั้น สูงขึ้นมากหลังจากงานพบปะสังสรรค์

หากเป็นเมื่อก่อน ผมคงเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ที่พยายามจะหาหุ้นคุณค่าจากเซียน แต่น่าแปลกว่าในปัจจุบันนี้ ผมแทบไม่มีความรู้สึกว่าอยากจะซื้อหุ้นตามเซียนเลย (แต่แอบมีบ้างเล็กๆ) ออกจะในแนวทางตรงกันข้าม คือไม่พยายามเข้าไปยุ่งกับหุ้นหรือกิจการที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะนั่นจะทำให้ต้นทุนในการเข้าซื้อลงทุนสูงขึ้นตามไปด้วย

อีกกรณีหนึ่งก็คือ การซื้อตามเซียนนั้น หากไม่ได้ทำการศึกษามาอย่างดีแล้ว นักลงทุนก็จะลงทุนอย่างไม่มีความสุข ไม่มีอิสรภาพ เพราะต้องคอยติดตามข่าวจากเซียนอยู่เสมอๆ ซึ่งนับเป็นความรู้สึกที่อึดอัดและไม่มีความสุขเป็นอย่างยิ่ง

ในความเห็นของผม สิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรทำก็คือการศึกษาและเรียนรู้จากเซียนท่านนั้นว่า ท่านมีหลักคิดหรือมีแนวทางการหาหุ้นอย่างไร แล้วพยายามนำไปปรับใช้ในกระบวนท่าการลงทุนเพื่อพัฒนาออกมาเป็นแนวทางการลงทุนของตัวเอง

วันนี้อาจจะเป็นวันประกาศอิสรภาพของตัวผมเอง เนื่องจากเป็นวันที่ผมสามารถ "สอบผ่าน" บททดสอบใจตัวเองในการซื้อหุ้นตามคนอื่นได้ ผมจึงขอเหมาเอาเองว่า การลงทุนแบบ VI ของผมนั้น น่าจะเลื่อนขั้นมาได้ระดับหนึ่ง หากเปรียบกับการเรียนในโรงเรียน วันนี้ก็น่าจะเป็นวันประกาศผลสอบว่าผมสามารถสอบผ่านชั้น ป.1 ไปสู่ชั้น ป.2 ได้นั่นเอง