หลังจากทนเสียงเรียกร้องอันล้นหลาม(ของตัวเอง) ไม่ไหว วันนี้จึงได้ลองเขียนบทความการประเมินมูลค่าหุ้นสไตล์ doodeemak ซักทีนะครับ
จากการอ่านหนังสือบ้าง (ไม่อ่านบ้าง) จากบทความต่างๆบ้าง พบว่าวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นนั้นมีมากมายหลายวิธี (แล้วมรึงจะพูดทำไมฟะ) แต่โดยหลักๆแล้ว น่าจะสามารถแบ่งเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้
1) วิธีเปรียบเทียบกำไรกับชาวบ้านและตัวเองในอดีตกับราคาในตลาด
นั่นคือ ดูว่ากำไรที่บริษัทได้สร้างขึ้นมา เมื่อเทียบกับราคาในปัจจุบันแล้วถูกหรือแพง ซึ่งก็คือ P/E ratio นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น บริษัท กอไก่ มีกำไร 10 บาทต่อปี มีมูลค่าตลาดรวม 100 บาท อย่างนี้ก็จะได้ P/E = 100/10 ก็คือ 10 เท่า
หากเปรียบเทียบกับ P/E ในอดีตของบริษัทในปีก่อนๆ บริษัทเคยมี P/E อยู่ที่ประมาณ 15-20 เท่า อย่างนี้ก็แสดงว่าหุ้นบริษัทนี้ถูก
แต่วิธีนี้จะต้องระวังคือกำไรที่นำมา ควรจะเป็น "กำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต" ดังนั้นในกรณีหุ้นที่เป็นวัฎจักร ถ้าหากเราไปหลงซื้อตอนที่ PE ต่ำๆโดยคิดว่ามันถูก โดยหารู้ไม่ว่า มันถูกเพราะกำไรที่สูงเกินจริงในอดีต ทีนี้พอกำไรในอนาคตมันตกลง ก็กลับกลายเป็นว่า PE กระโดดขึ้นสูงไปมากและอาจจะทำให้ราคาตกลงในที่สุด
ทั้งนี้เราอาจเปรียบเทียบ P/E กับอุตสาหกรรมหรือบริษัทใกล้เคียงได้ตามความพอใจ (แต่จะยากซักหน่อย เพราะตลาดให้ PE ที่ควรจะเป็นของบริษัทแตกต่างกัน ตามโอกาสของการเติบโตของกำไรที่แตกต่างกัน)
ดังนั้น วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นโดยการใช้ PE ratio ก็คือการเอา PE ที่เหมาะสมของบริษัทนั้นๆ คูณด้วยกำไรต่อหุ้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคูณด้วย safety factor หรือ margin of safety เช่น อาจจะเผื่อความผิดพลาดไว้ 30% ก็คูณด้วย 0.7 เป็นต้น
วิธีนี้มีข้อดีคือ เข้าใจง่ายแต่ก็มีข้อควรระวังคือ
- PE ที่เหมาะสมนั้น อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลและความคาดหวังของตลาดต่ออนาคตของบริษัท
- กำไรที่ประมาณการนั้นต้องใช้ forward PE หรือกำไรในอนาคต ซึ่งควรจะเป็นกำไรที่เราสามารถล่วงรู้ได้ก่อนที่ราคาในตลาดจะตอบสนอง
2) วิธีเปรียบเทียบมูลค่าผู้ถือหุ้นทางบัญชีกับราคาในตลาด
คล้ายกับ PE แต่จะเป็นการมองมูลค่าส่วนผู้ถือหุ้นแทนกำไรหรือก็คือ P/BV (Price to Book value) โดยข้อแตกต่างจาก PE ratio ที่เห็นได้ชัดคือราคาที่ประเมินได้ จะอิงจากสินทรัพย์เป็นหลักซึ่งมีข้อดีคือมีความแน่นอนสูงไม่เหมือนกับกำไร แต่มีข้อเสียคือ การประเมินมูลค่า book value หรือส่วนของผู้ถือหุ้นนั้น ควรจะต้องมีการปรับปรุงสินทรัพย์ให้เป็นมูลค่าที่แท้จริง และถึงแม้ P/BV จะต่ำแต่หากผู้บริหารไม่คิดจะขายสินทรัพย์หรือนำสินทรัพย์ไปก่อให้เกิดประโยชน์ มูลค่าหรือราคาของหุ้นก็อาจจะยังคงไม่ไปไหน ส่วนวิธีการประเมินมูลค่าหุ้น ก็เลียนแบบ PE เลยครับนั่นคือดูว่า P/BV ในอดีตของบริษัทกับปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้า P/BV ในปัจจุบันต่ำกว่าในอดีตมากๆ ก็แสดงว่าถูก (แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังคุณภาพของสินทรัพย์ด้วยนะครับ)
3) วิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ
อันนี้ยากมากครับ สามารถหาอ่านได้จากตำราเล่มหนาๆ
ข้อดีคือ เป็นวิธีที่ใกล้เคียงที่สุดในการประเมินหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ เพราะคำนึงถึงเงินสดที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับ แต่มีข้อเสียคือสมมิตฐานที่นำมาใช้ หากเปลี่ยนนิดเดียว ก็จะทำให้มูลค่าหุ้นที่คำนวนได้เปลี่ยนไปมาก
โดยสรุปแล้วตามความเห็นของผม ทุกวิธีที่กล่าวมา ยากเกินไปทั้งนั้นเลย (แล้วมรึงจะพิมพ์มาตั้งนานหาพระแสงอะไร) ซึ่งการประเมินมูลค่าหุ้นนั้น ไม่น่าจะยากขนาดนั้น ก็เลยมาคิดว่าจะประเมินแบบไหนดีที่จะทำให้เรารู้สึกสบายใจในการถือหุ้นลงทุนโดยมีกฎเหล็กคือ "เงินต้นต้องปลอดภัย"
ผมจึงนั่งคิด (นอนคิดเป็นบางครั้ง) ว่าบริษัทลักษณะแบบไหนที่เวลาเราลงทุนแล้วเรารู้สึกปลอดภัยม้ากมาก ว่าเงินทุนเราจะไม่หล่นหายแถมเข้าซื้อในราคาถูก
คำตอบที่ได้จากเสียงเรียกของหัวใจก็คือ "บริษัทที่มีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกสม่ำเสมอและราคาถูกเมื่อเทียบกับราคาตลาด"
1) "บริษัทที่มีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกสม่ำเสมอ"
นั่นคือเป็นบวกและสม่ำเสมอในแนวที่สูงขึ้น คือไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุกๆปี แต่ขอให้มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นหรือคงที่
เพราะเวลาเราลงทุนอะไรลงไป เราย่อมต้องการให้กิจการนั้นมีเงินสดไหลกลับออกมาให้เรา เราถึงจะรู้สึกปลอดภัย
2) ราคาถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาด
ผมคิดง่ายๆว่า ขอคืนทุนภายในไม่เกิน 3-4 ปีกับธุรกิจตะวันตกดิน และคืนทุนภายในไม่เกิน 10 ปีสำหรับกิจการที่มีแนวโน้มยังโตได้อีก
ตัวอย่างเช่น กระแสเงินสดอิสระประมาณการมีมูลค่า 200 ล้านบาทและบริษัทไม่มีหนี้สิน มูลค่าตลาดของบริษัทที่ผมยอมซื้อในกรณีที่เป็นธุรกิจตะวันตกดินต้องไม่เกิน 600 ล้านบาท จึงจะรู้สึกปลอดภัย เป็นต้น
แต่หากเป็นกิจการที่มีแนวโน้มโตขึ้นๆ อาจจะยอมยืดเวลาคืนทุนออกไปเป็น 10 ปี ดังนั้นมูลค่าตลาดที่ผมยอมซื้อก็คือ 2000 ล้านบาท (โดยมองว่า 200 ล้านบาทในปัจจุบัน น่าจะเพิ่มขึ้นๆเรื่อยๆในอนาคต ซึ่งจะทำให้ราคาที่แพงในวันนี้ ถูกในวันหน้า)
ซึ่งตรงนี้ก็เป็นศาตร์และศิลป์ของแต่ละท่านในการประเมินมูลค่ากระแสเงินสดอิสระของกิจการ เพราะต้องมีการดูตัวเลขจริงในอดีตประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจและความสามารถทางการแข่งขันประกอบด้วย (หากมีโอกาสจะได้กล่าวถึงในบทความถัดๆไปนะครับ) จะเห็นได้ว่า วิธีนี้เราไม่ต้องคำนวนค่า WACC อย่างวิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ รวมทั้งไม่ต้องคอยประมาณกำไรที่จะเกิดในระยะสั้นๆแบบ PE และไม่ต้องประเมินมูลค่าสินทรัพย์ตาม P/BV อีกต่างหาก แต่วิธีจะมีข้อจำกัดตรงที่ กิจการที่มีกระแสเงินสดอิสระไม่สม่ำเสมอ ก็อาจจะไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งบางครั้ง อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสทองก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนสไตล์ doodeemak ต้องรักษากฎเหล็กไว้นะครับ คือลงทุนแล้วรู้สึกปลอดภัย เงินต้นไม่หาย
จากนั้นก็เอามูลค่าตลาดของหุ้นในใจที่ได้หารด้วยจำนวนหุ้นในตลาด เพียงเท่านี้ก็จะได้ราคาหุ้นในใจสไตล์ doodeemak แล้วล่ะครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น