เป็นบทความที่ประทับใจ อ่านทีไรก็ไม่เบื่อครับ เป็นเหมือนกับหลักธรรมชาติ ที่เป็นสัจธรรม ที่เป็นจริงเสมอโดยไม่ขึ้นกับกาลเวลา
จากบทความ โลกในมุมมองของ Value Investor 19 กันยายน 2552
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Value Investment คืออะไร? นั่นเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ คำตอบที่ได้รับนั้นมักจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับ “Value Investor” แต่ละคน ส่วนใหญ่แล้วคำตอบนั้นมักจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิด “แบบ VI” ผมคิดว่าไม่มีคำตอบไหนที่จะอธิบายความหมายของ VI ได้อย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าแท้ที่จริงแล้ว VI นั้นเป็น “ปรัชญา” ที่อาจจะมีพื้นฐานจากแนวความคิดของ เบน เกรแฮม แต่หลังจากนั้นก็มีนักคิดและนักปฏิบัติคนอื่นที่ช่วยกันเสนอแนวความคิดเพิ่มเติมหลากหลาย บางเรื่องก็แย้งกับแนวทางเดิมก็มี อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วก็พอจะบอกได้ว่าแนวทางแบบใดเป็นแบบ VI และแนวไหนไม่ใช่ และต่อไปนี้ก็คือความพยายามของผมที่จะรวบรวมแนวความคิดหลัก ๆ ของ VI ที่จะช่วยให้คนที่ยังสับสนว่าอะไรคือ VI และการลงทุนแบบ VI นั้นทำอย่างไร ผมอยากเรียกมันว่า “ทฤษฎี VI”
ทฤษฎี VI ของผมจะเริ่มจาก “โครงร่าง” ที่จะครอบคลุมประเด็นหลัก ๆ ของ VI ดังต่อไปนี้คือ
ข้อแรก VI มองการลงทุนในหุ้นว่าคือการลงทุนในธุรกิจ พูดง่าย ๆ ซื้อหุ้นก็คือซื้อธุรกิจหรือถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ก็คือ ซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ใช่ซื้อกระดาษใบหนึ่งที่มีราคาขึ้นลงได้ ดังนั้น การวิเคราะห์หุ้นก็คือการวิเคราะห์ว่าธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร
ข้อสอง ต้องหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ซึ่งก็คือการหามูลค่าของธุรกิจ นี่คือมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการที่ธุรกิจสามารถสร้างกระแสเงินสดให้เราได้ ไม่ใช่มูลค่าที่มีคนมาเสนอซื้อจากเรา
ข้อสาม ซื้อหรือขายหุ้นเมื่อมีส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงกับราคาหุ้นในตลาด โดยที่ส่วนต่างนั้นมีมากพอ หรือเรียกว่ามี Margin Of Safety
ข้อสี่ VI นั้นจะต้องมี EQ หรืออารมณ์ที่มั่นคง ไม่ถูกชักนำโดยจิตวิทยาสังคมหรือสภาวะของตลาดหลักทรัพย์
ข้อห้า ต้องควบคุมความเสี่ยง หรือเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม
สุดท้ายก็คือ ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในมุมมองของ VI
ข้อแรกในเรื่องของธุรกิจนั้น VI จะพยายามแยกหุ้นออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้รู้ว่าคุณสมบัติทางธุรกิจของหุ้นนั้นเป็นอย่างไร การแยกแยะนั้นจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตของกิจการได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น
การแบ่งกลุ่มของหุ้นที่ค่อนข้างกว้างก็คือแนวที่บัฟเฟตต์เรียกว่า กลุ่มหุ้น “ก้นบุหรี่” กับกลุ่มหุ้น “Super Company” โดยที่หุ้นก้นบุหรี่ก็คือหุ้นของบริษัทที่ไม่มีความสามารถโดดเด่นในการแข่งขัน ซึ่งทำให้ราคาของหุ้นอาจจะถูกมากจนอาจทำให้คุ้มค่าที่จะซื้อ ในขณะที่หุ้น Super Company นั้นเป็นหุ้นของกิจการที่มีความแข็งแกร่งมากและมี “ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน” ซึ่งทำให้บริษัทสามารถทำกำไรดีกว่าปกติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน หุ้นแบบหลังนี้ ถ้าเราสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม มันก็จะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีได้เป็นเวลานาน
VI ชื่อดังอย่าง ปีเตอร์ ลินช์ เองได้เสนอการแบ่งกลุ่มบริษัทให้ละเอียดขึ้นเพื่อให้สามารถวิเคราะห์กิจการได้แม่นยำขึ้น เขาแบ่งกิจการออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแรก หุ้นโตช้า ซึ่งเขาบอกว่าไม่น่าสนใจลงทุน นี่น่าจะเป็นกลุ่มที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ตะวันตกดิน” กลุ่มสอง หุ้นแข็งแกร่ง นี่คือหุ้นของกิจการขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง เป็นหุ้นที่นักลงทุนเรียกว่าเป็น หุ้น “Blue Chip” หุ้นเหล่านี้จะโตไม่มากแล้ว คนลงทุนควรจะเน้นว่ามันจ่ายปันผลในอัตราที่ดีจึงจะน่าสนใจที่จะซื้อลงทุน กลุ่มที่สาม คือหุ้นโตเร็ว นี่คือหุ้นที่มักจะมีขนาดเล็กลงมาแต่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นกิจการที่ยังมีความเสี่ยงและอาจจะไม่เข้มแข็งมาก แต่การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้โดยรวมมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีเพราะราคาหุ้นจะปรับตัวไปสูงมากและเป็นเวลานาน กลุ่มที่สี่ คือหุ้นวัฏจักร นี่คือกิจการที่มีผลประกอบการขึ้นและลงเป็นรอบ ๆ ที่ถ้าเราเข้าใจก็สามารถลงทุนซื้อและขายหุ้นในช่วงเวลาที่ถูกต้องได้ กลุ่มที่ห้า คือกลุ่มหุ้นฟื้นตัว นี่คือหุ้นของกิจการที่ประสบปัญหาหนักแต่กำลังฟื้นตัวหรือจะฟื้นตัวได้เนื่องจากเหตุผลบางประการเช่นบริษัทมีเงินสดมาก การซื้อหุ้นแบบนี้ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากเมื่อกิจการฟื้นตัวแล้ว สุดท้าย หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมาก นี่คือหุ้นของกิจการที่มีทรัพย์สินมากกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทและทรัพย์สินนั้นมีค่าจริง การลงทุนในหุ้นมีทรัพย์สินมากมักจะมีความปลอดภัยสูง
การแบ่งกลุ่มบริษัทนั้น สำหรับ VI คงไม่มีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าเขาเข้าใจธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นข้อถกเถียงมากว่าเป็นแนวของ VI หรือไม่ก็คือในกรณีของ บิล มิลเลอร์ ซึ่งประกาศตัวว่าเป็น VI คนหนึ่ง แต่เขาลงทุนในหุ้นกลุ่มไฮเท็คมากและประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้ง ๆ ที่หุ้นไฮเท็คนั้น สำหรับ VI ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นหุ้นในกลุ่มของ Growth Investor ซึ่งไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องของราคาถูกแพงของหุ้นซึ่งขัดกับแนวความคิดหลักของ VI ที่เน้นว่าต้องซื้อเฉพาะหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐานเสมอ อย่างไรก็ตาม บิล มิลเลอร์ เถียงว่า หุ้นที่เขาลงทุนนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้แพงเลยเมื่อมองถึงกระแสเงินสดในอนาคตที่กิจการเหล่านั้นจะทำได้ในอนาคตที่อาจจะไกลออกไปหน่อยแต่ก็เป็นกระแสเงินสดที่มากและน่าจะคาดการณ์ได้เมื่อคำนึงถึงธรรมชาติของธุรกิจของหุ้นไฮเท็คที่เขาซื้อเหล่านั้น
หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์กิจการนั้น นอกจากการที่ต้องพยายามจัดกลุ่มแล้ว เราต้องเข้าใจว่าบริษัทนั้น “หากิน” อย่างไร อะไรเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลประกอบการของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาวและปัจจัยเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วและมากน้อยแค่ไหน การเข้าใจตัวธุรกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญมากของการลงทุนแบบ VI และก่อนที่จะลงทุนนั้น นักลงทุนจะต้องสามารถบอกเล่าเรื่องราวสั้น ๆ ที่ครอบคลุมหัวใจสำคัญของการดำเนินงานของธุรกิจหรือ “Story” ว่าทำไมหุ้นตัวนั้นถึง “น่าลงทุน”
ทฤษฎี VI(2)
1
โลกในมุมมองของ Value Investor 29 กันยายน 52
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการหรือที่ภาษานักวิชาการเรียกว่า Intrinsic Value นั้น สำหรับ VI แล้ว มันน่าจะเป็นช่วงมากกว่าเป็นตัวเลขที่แน่นอนเพียงตัวเดียว หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือ เราไม่พูดว่ามันควรมีค่ากี่บาทถึงกี่บาท แต่เรามักพูดว่ามันถูกหรือถูกมาก หรือมันแพงหรือแพงมาก การวัดความถูกความแพงของหุ้นนั้น ข้อมูลที่ VI นิยมใช้มากที่สุดน่าจะรวมถึงค่า PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรของกิจการ ค่า PB หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของหุ้น ค่า DP หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือที่เรียกว่า Dividend Yield และสุดท้ายก็คือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดของกิจการหรือค่า Market Cap. นอกจากนั้น VI บางคนก็ยังใช้ค่า PEG ซึ่งก็คือค่า PE หารด้วยอัตราการเจริญเติบโตของกำไรของบริษัทด้วย
หุ้นที่ถูกสำหรับ VI ก็คือหุ้นที่มีค่า PE หรือค่า PB ต่ำกว่าค่า PE หรือค่า PB เฉลี่ยของตลาดหรือมีค่า DP สูงกว่าค่า DPเฉลี่ยของตลาด VI ส่วนใหญ่มักจะดูค่า PE เป็นตัวหลักและดูค่า PB และDP เป็นตัวประกอบ ประเด็นสำคัญก็คือ ค่า E หรือกำไรนั้น จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อกิจการมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการเท่านั้น ส่วนบริษัทที่มีกำไรที่ไม่สม่ำเสมอนั้น จะต้องใช้กำไรเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา หรือใช้กำไรในปีที่ต่ำที่สุดในช่วง 3-4 ปีมาแทนกำไรในปีปัจจุบัน และในเกือบทุกกรณี ค่าของ Market Cap. จะเป็นตัวที่ใช้ตรวจสอบว่ามูลค่าตลาดของกิจการนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องมองดูขนาดของธุรกิจและศักยภาพของกิจการในอนาคตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การดู Market Cap. นั้นค่อนข้างเป็นศิลปที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาก
ในกรณีที่หุ้นเป็นกิจการที่มีคุณภาพสูง ค่า PE หรือ PB ที่จะบอกว่าหุ้นถูกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้จากค่าเฉลี่ยของตลาด โดยที่คุณสมบัติของกิจการที่มีคุณภาพสูงอาจจะแสดงได้โดยตัวเลขหรือลักษณะการดำเนินการของกิจการดังต่อไปนี้คือ 1) กิจการนั้นมี ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าปกติ เช่นมากกว่า 20% ต่อปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน 2) กิจการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงกว่ากำไรทางบัญชีของบริษัท 3) บริษัทเป็น Dominant Firm หรือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าอันดับสองมากอย่างน้อยกว่า 2-3 เท่าขึ้นไป 4) บริษัทสามารถขยายงานได้โดยใช้เงินลงทุนน้อยมาก ข้อนี้จะพบมากในบริษัทที่ขายทรัพย์สินทางปัญญาหรือบริการที่ไม่ต้องมีอุปกรณ์หรือเครื่องจักรใหม่มาก 5) บริษัทสามารถปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ทันทีโดยไม่สูญเสียลูกค้าไป และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ 6) บริษัทมีการเจริญเติบโตเร็ว อย่างน้อยเป็น 3 เท่าของการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ
Premium หรือค่า PE ที่สูงขึ้นของกิจการที่มีคุณภาพสูงนั้น จะสูงขึ้นได้เท่าไรเป็นเรื่องที่บอกได้ยาก แต่ยิ่งบริษัทมีคุณภาพสูงขึ้นเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลาย ๆ ข้อดังกล่าวข้างต้น ค่า PE ก็มักจะมีค่าสูงทบทวีขึ้นไปมากขึ้น ในบางช่วงโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเอื้ออำนวย ค่า PE ของกิจการที่เป็น “Super Company” สามารถขึ้นไปสูงได้อย่างไม่น่าเชื่อและเกินกว่าราคาที่ Value Investor ส่วนใหญ่จะรับได้ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ในกรณีที่กิจการเป็นบริษัทที่โตเร็ว VI บางคนก็จะยอมรับค่า PE ที่สูงขึ้นได้โดยมีเงื่อนไขว่า ค่า PE ที่สูงนั้นต้องไม่เกินอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทโดยเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ ค่า PEG ต้องไม่มากกว่า 1 เท่า
สำหรับคนที่ลงทุนในกิจการที่ดีเลิศแบบ Super Company อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์นั้น เขาบอกว่าถ้าซื้อหุ้นถูกตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องขายหุ้นเลย อย่างไรก็ตาม เวลาที่ซื้อหุ้นของ VI ก็คือเมื่อเขาพบหุ้นที่มีมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาหุ้นในตลาดมาก ตัวเลขชัดเจนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละหุ้นแต่โดยทั่วไปน่าจะไม่น้อยกว่า 20-30% และความแตกต่างนี้เรียกว่า Margin Of Safety ซึ่ง VI เชื่อว่าจะเป็นส่วนที่ “เผื่อ” เอาไว้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือมีอะไรผิดพลาด หุ้นที่ซื้อโดยมี Margin Of Safety สูงก็ยังคงรักษามูลค่าของมันไว้ได้ พูดง่าย ๆ ถ้าหุ้นตกลงไปจากราคาที่ซื้อ เราก็สามารถถือยาวและในที่สุดมันก็จะฟื้นตัวกลับมาได้
เวลาขายหุ้นสำหรับ VI นั้น ก็เช่นเดียวกับการซื้อหุ้น คือไม่ได้อิงกับภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น และโดยทั่วไป การถือหุ้นมักจะเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวแม้ว่านิยามของคำว่ายาวของ VI แต่ละคนอาจจะต่างกันมาก เวลาของการขายหุ้นของ VI นั้นไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นเมื่อไรและจะขายเมื่อกำไรหรือขาดทุนเท่าไร แต่หลัก ๆ แล้วเขาจะขายในกรณีดังต่อไปนี้
1) ตระหนักว่ากิจการหรือหุ้นที่ซื้อมานั้นตนเองวิเคราะห์ผิดพลาดเนื่องจากข้อมูลใหม่ที่ได้รับรู้มา
2) พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปเนื่องมาจากเหตุผลต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ต้องระวังว่าไม่ใช่เรื่องที่เราเข้าใจผิดถึงพื้นฐานมาตั้งแต่แรก เพราะโดยทั่วไปพื้นฐานของกิจการนั้น มักเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก ว่าที่จริง คำว่า “พื้นฐาน” ก็แปลว่า “เปลี่ยนยาก” อยู่แล้ว
3) ราคาหุ้นขึ้นไปเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่าหุ้นขึ้นไปมากแล้ว เพราะการที่หุ้นขึ้นไปมากนั้นก็อาจจะไม่เกินพื้นฐานก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มูลค่าพื้นฐานของกิจการก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยทำให้ราคาไม่เกินพื้นฐานแม้ราคาหุ้นจะขึ้นไปมาก
4) มีหุ้นตัวอื่นที่น่าสนใจและมี Margin Of Safety สูงกว่ามากและเราไม่มีเงินสดเหลือ เราจึงต้องขายหุ้นตัวเดิมเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่
5) ภาวะเศรษฐกิจการเมืองและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากจนทำลายพื้นฐานของกิจการ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เศรษฐกิจถดถอยไปบ้างหรือการเมือง “วุ่นวาย” แต่น่าจะเป็นเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจหรือเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจไปในแนวทางที่ไม่ใช่ระบบตลาดเสรี เป็นต้น
ทฤษฎี VI (3)
1
โลกในมุมมองของ Value Investor 3 ตุลาคม 2552
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เรื่องของ EQ หรือความสามารถทางอารมณ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็น VI ที่ดี ว่าที่จริง EQ นั้น น่าจะสำคัญกว่า IQ หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยซ้ำ ประเด็นสำคัญของการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ เราต้องมีทัศนะคติที่ถูกต้อง มีอารมณ์ที่มั่นคง และมีความกล้าที่จะตัดสินใจ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ในการลงทุนนั้น เราต้องกล้าในยามที่คนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังกลัว และกลัวในยามที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม
ในมุมมองของ VI นั้น ตลาดหุ้นเป็นเสมือนคนที่มีอารมณ์ “แปรปรวน” และทำการซื้อขายหุ้นในราคาที่บ่อยครั้งไม่มีเหตุผล เช่นถ้าวันนั้น “นายตลาด” มีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เขาก็จะเสนอซื้อหุ้นจากเราในราคาที่สูงลิ่วเกินมูลค่าของธุรกิจไปมาก แต่ในวันที่เขารู้สึกหดหู่ เขาก็พร้อมที่จะเสนอขายหุ้นให้เราในราคาที่ต่ำติดดินทั้ง ๆ ที่มันก็คือกิจการเดียวกับที่เขาเสนอซื้อในราคาสูงลิ่วจากเราในวันก่อน หน้าที่ของเราก็คือ “เอาเปรียบ” เขาเมื่อเขาเสนอโอกาสมาให้ แต่อย่าไป “ตามเขา”
ประเด็นเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนในหลักการของ VI นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง วอเร็น บัฟเฟตต์ ถึงกับพูดว่า กฏของการลงทุนข้อที่หนึ่งคือ อย่าขาดทุน และกฏการลงทุนข้อสองก็คือ ให้กลับไปอ่านข้อหนึ่ง นั่นก็คือ สำหรับ VI แล้ว การรักษาเงินต้นคือภารกิจสำคัญที่สุด มากกว่าผลตอบแทนที่อาจจะมากแต่มีความเสี่ยงว่าจะขาดทุน
ความเสี่ยงสำหรับ VI นั้น ไม่ใช่ความผันผวนของราคาหุ้น แต่เป็นเรื่องที่ราคาหุ้นที่ซื้อไว้จะ “ลดลงอย่างถาวร” นั่นแปลว่าถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นตกลงมาในระยะสั้น แบบนี้ไม่ใช่ความเสี่ยงถ้าเราวิเคราะห์แล้วพบว่ามูลค่าพื้นฐานยังสูงเหมือนเดิม ตรงกันข้าม กลับเป็นโอกาสในการซื้อเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการซื้อหุ้นตัวนั้นกลับลดลงเพราะเรามี Margin Of Safety มากขึ้น
ในการควบคุมความเสี่ยงนั้น VI มีวิธีการหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ
1) รู้จักธุรกิจที่จะลงทุนเป็นอย่างดี ความเสี่ยงนั้นคือการที่เรา “ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่”
2) ลงทุนในสิ่งที่มี Margin Of Safety สูง
3) หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร นั่นคือ อย่าลงทุนในกิจการที่ไม่ได้สร้างเงินให้กับผู้ที่ถือมัน เหตุผลก็คือ ความแน่นอนของผลตอบแทนจะมีน้อยและมีความเสี่ยงที่เงินต้นอาจจะลดลง ตัวอย่างเช่น ทอง หรือตราสารอนุพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น
4) มีการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงของการถือครองทรัพย์สินอย่างเหมาะสม เช่น มีการถือพันธบัตร หุ้น เงินสด หรือทรัพย์สินอื่น รวมกันเป็นพอร์ตโฟลิโอในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่นเดียวกัน ในหลักทรัพย์แต่ละประเภทก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงโดยการถือหลาย ๆ ตัวด้วย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือหุ้นนั้น เราควรถืออย่างน้อย 5-6 ตัวขึ้นไปในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม อย่ากระจายการถือครองมากตัวเกินไป เพราะเราจะไม่สามารถวิเคราะห์และติดตามได้อย่างทั่วถึงและจะทำให้เราลงทุนผิดพลาดได้
ประเด็นอื่น ๆ ที่ VI คำนึงถึงค่อนข้างมากเรื่องแรกก็คือ ผู้บริหารของกิจการที่เราจะลงทุน เราเน้นว่าจะต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีจรรยาบรรณซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าฝีมือการบริหารงาน เรื่องต่อมาก็คือ เราอยากได้ผู้บริหารที่มองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นเรื่องที่สำคัญ และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้นก็คือการที่เราจะได้ปันผลในอัตราที่ยุติธรรมและเหมาะสม นอกจากนั้นเราอยากให้หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพื่อว่าถ้าเราจะขายเราก็จะได้กำไรหรือผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น ผู้บริหารที่พูดว่าราคาหุ้นไม่เกี่ยวกับเขา จึงไม่ใช่ผู้บริหารที่ดีในสายตาของ VI
VI นั้นต้องการให้ผู้บริหารดูแลราคาหุ้นแต่ไม่ใช่เข้าไปซื้อขายหุ้นทำราคาหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารที่ดีนั้นจะต้องสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้กับบริษัทที่จะทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น โดยคำว่าคุณค่านั้น รวมถึงผลประกอบการ โครงสร้างทางการเงินและความแข็งแกร่งของตัวกิจการ การจัดสรรกำไรและเงินสดคืนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม ประเด็นที่เป็นปัญหาบ่อย ๆ ก็คือ ผู้บริหารบางคนที่บริหารงานแล้วบริษัทมีกำไรพอใช้ได้ มีกระแสเงินสดดี แต่ราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนและราคาหุ้นก็ค่อนข้างต่ำมาก เขาก็ไม่ทำอะไรเพราะคิดว่าเรื่องราคาหุ้นไม่ใช่เรื่องของเขา แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ที่ราคาหุ้นต่ำอาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่ยอมจัดสรรกำไรให้กับผู้ถือหุ้นอย่างที่ควรเป็นต่างหาก
ประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ VI ก็คือเรื่องความผิดพลาดของ VI สิ่งที่ต้องระวังมากก็คือ การซื้อหุ้นหรือบริษัทที่มีคุณภาพต่ำในยามที่ธุรกิจดีและในเวลาที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูง เพราะเมื่อธุรกิจเริ่มแย่ลงตามภาวะ ราคาหุ้นจะตกลงมามาก อีกเรื่องหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันก็คือ การเข้าใจผิดว่ากำไรดีในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องเดียวกับ “ความสามารถในการทำกำไร” ซึ่งเป็นเรื่องที่คงทนและเป็นเรื่องระยะยาวกว่ามาก ดังนั้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ VI จะต้องมองผลประกอบการของบริษัทย้อนหลังหลายปีและต้องมองระยะยาวไปข้างหน้าหลายปีเช่นกัน
สุดท้าย ก่อนที่จะจบ “ทฤษฎี VI” ฉบับย่อที่สุดก็คือ VI นั้นเป็นเรื่องของความคิดปรัชญาและการกระทำ และเป็นเรื่องของคนที่ทำ นั่นก็คือ คนที่ยึดปรัชญาความคิดนั้นเราเรียกเขาว่า Value Investor มันไม่ใช่สิ่งของ หลักทรัพย์ หรือตัวหุ้น เพราะสิ่งเหล่านั้น สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ ประเด็นก็คือ การที่จะเป็น VI นั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นอิสระจาก “อารมณ์ของฝูงชน” เสร็จแล้วก็ต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำ หรือมีใจหนักแน่นพอที่จะอยู่เฉย ๆ และนั่นทำให้ VI เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ทั้งการศึกษาและประสบการณ์ในการลงทุนจริง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น