วันอังคาร, พฤษภาคม 25, 2553

วิวัฒนาการทางการลงทุนของ VI มือใหม่

วันนี้ลองเอาหนังสือวาทะของวอร์เรนมานั่งอ่าน ระหว่างนั่งรถเมล์เดินทางไปทำงาน
ระหว่างอ่านไปก็สงสัยว่า ไอ้ประโยคเดิมๆนี้ เราก็เคยได้อ่าน ได้เห็นมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกๆครั้งทำไมเรารู้สึกไม่เหมือนเดิม เหมือนกับมีภาพอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนไป ทำให้กลับมาทบทวนและคิดว่าอะไรคือสิ่งที่เราเปลี่ยนไปจากวันที่เริ่มต้นลงทุน

ผมเชื่อว่านักลงทุนหลายๆท่านมีต้นกำเนิดหลักๆอยู่สองสายพันธุ์ หากจะเปรียบตามหลักของหนังจีนกำลังภายในคือ

สายที่ 1: แนวลมปราณและ
สายที่ 2: แนวกระบี่

แนว VI สายลมปราณมักจะเป็นเด็กสายวิทย์ที่สนใจการลงทุน โดยเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือและศึกษา ratio ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ROE, ROA, Net Margin, P/E, P/B หรืออะไรต่างๆก็แล้วแต่
ขณะที่แนว VI สายกระบี่ มักสนใจและติดตามเซียน, หุ้นเด็ดตามเว็บหรือข่าวสารต่างๆที่จะส่งผลที่ดีต่อกำไรของกิจการ (แตกต่างจากการเก็งกำไรตรงที่ ไม่ได้สนใจกราฟหรือดัชนีมากนัก แต่สนใจเหตุการณ์หรือข่าวสารเรื่องราวดีๆของหุ้นมากกว่า)

โดยทั้งสองสายมีลักษณะคล้ายๆกันคือ ต้องการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว... หมายความถึงภายในไม่เกิน 1 ปี

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่านี่คือธรรมชาติที่นักลงทุนหน้าใหม่มักจะต้องจ่ายค่าครู โดยหารู้ไม่ว่าการเริ่มต้นลงทุนทั้งสองแบบดังกล่าวนั้นมีจุดอ่อนที่ VI ขั้นเทพทั้งหลายมีอยู่แต่พวกเขาไม่มีคือ

1) ความรู้และความเข้าใจในธุรกิจหรือหุ้นตัวนั้นๆ
2) สติ, ความอดทน, การประเมินมูลค่าว่ามูลค่าว่าราคาไหนควรซื้อ, ถือ หรือขายทำกำไร

ในส่วนของความรู้ความเข้าใจในธุรกิจนั้น เราสามารถทดสอบตัวเองได้ง่ายๆกับคำถามเหล่านี้ว่า เราสามารถตอบได้หรือไม่
1) กิจการนั้นมีรายได้หลักจากอะไร
2) กิจการนั้นมีต้นทุนหลักจากอะไร
3) กิจการนั้นมีคู่แข่งและลูกค้าคือใคร
4) กิจการนั้นมีการเติบโตของยอดขายในอดีตเป็นอย่างไร เพราะอะไร
5) อะไรคือความเสี่ยงที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อกำไรของกิจการในอนาคต
6) อะไรคือโอกาสที่สำคัญของกิจการที่จะมีรายได้และกำไรที่เติบโต
7) ผู้บริหารมีความซื่อสัตย์หรือไม่ หรือมีประวัติที่ไม่ดีอย่างไร
8) แนวโน้มของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของกิจการเป็นอย่างไร เพราะอะไร
9) กิจการต้องการการลงทุนในระดับเท่าไหร่เพื่อที่จะรักษาสถานะของบริษัทในตลาด

โดยรวมๆก็คือความเข้าใจว่ากิจการนั้นหากินอย่างไร

ในส่วนที่สองคือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ โดยหลักๆคือความโลภและความกลัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาช่วย ประกอบกับความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งของกิจการและเทคนิคการหามูลค่า รวมไปถึงการเผื่อส่วนต่างตวามปลอดภัยและความเข้าใจในอารมณ์ของ Mr. Market

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือความคิดเห็นของผมจากประสบการณ์ตรงและจากการอ่านบทความหรือหนังสือหลายๆเล่ม ในการที่จะพยายามอธิบายว่า นักลงทุน VI มือใหม่ทำไมถึงต้องจ่ายค่าครูในช่วงแรกๆ

หลังจากที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในระดับหนึ่ง ผมเชื่อว่าวิวัฒนาการขั้นต่อไปของ VI คือการสร้างขอบเขตความรู้ของตัวเอง นั่นคือการพยายามละสายตาจากราคาหุ้นหรือข้อมูลตามกระทู้ แต่เน้นไปที่การศึกษาว่าธุรกิจประเภทใดที่เราสนใจและคิดว่าสามารถทำความเข้าใจได้ จากนั้นจึงนำไปสู่การอ่านและศึกษาข้อมูลของหุ้นอย่างน้อย 4-5 ตัวเพื่อให้เห็นภาพและความเป็นไป ว่าหุ้นแต่ละตัวมีวิธีการหากินอย่างไร จากนั้นจึงเริ่มที่จะประมาณมูลค่าหุ้นโดยหาความรู้เพิ่มเติม

ลำดับต่อไป นักลงทุนจึงควรสร้างโฟลเดอร์ในการเก็บหุ้นที่เราวิเคราะห์รวมถึง template หรือ model ที่เราใช้ประมาณการมูลค่าหุ้น และทำการ update ข้อมูลงบการเงินต่างๆรวมไปถึงข่าวสารต่างๆ แล้วจึงค่อยพิจารณาราคาตลาด เปรียบเทียบกับราคาในใจของเรา (ที่คิดส่วนเผื่อไว้แล้ว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น