วันศุกร์, พฤษภาคม 21, 2553

BATA กับการลงทุนแบบไร้อารมณ์

การลงทุนแบบไร้อารมณ์แม้แต่น้อยของผมครั้งแรกต้องยกให้เจ้า BATA ครับ เพราะ...

เป็นการลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนโดยไม่ได้คำนึงว่ามีเซียนแนะนำหรือเปล่า

เป็นการลงทุนที่ตัดสินใจซื้อทั้งๆที่ราคาค่อยๆขึ้นมาเรื่อยๆในระดับที่ดูเหมือนว่าจะไม่ถูกแล้ว

เป็นการลงทุนที่ได้ทำการ valuation มูลค่าหุ้นก่อนซื้อ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ดูราคาตลาด

เป็นการลงทุนที่แม้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา 30% ก็ยังไม่ขายทำกำไร เพราะเหตุผลที่ว่ายังต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินไว้

ทั้งหลายทั้งปวง จึงมาสรุปที่คำว่า "การลงทุนแบบไร้อารมณ์"

มาดูว่าหุ้น BATA ที่ผมพบโดยบังเอิญนั้น ผ่านกฎการกรองหุ้นสไตล์ doodeemak รึเปล่า

1) หุ้น BATA เป็นหุ้นที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากยอดขายส่วนหนึ่งและจากการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่ดีขึ้นและดีขึ้น
ดังนั้น หุ้น BATA นั้น ผ่านกฎข้อที่หนึ่งในการกรองหุ้นของผมครับ

2) หุ้น BATA เป็นหุ้นที่สภาพคล่องไม่มาก แทบจะไม่มีคนสนใจเลยก็ว่าได้
ดังนั้น หุ้น BATA ผ่านกฎข้อที่ 2 ของผมครับ

3) กฎข้อนี้ไม่ต้องใช้ เพราะหุ้น BATA เป็นหุ้นที่ไม่ค่อยมีคนติดตาม

4) กระแสเงินสดของหุ้น BATA เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดในจณะนั้น จัดได้ว่าถูกอย่างเหลือเชื่อ โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานแต่ละไตรมาสตั้งแต่ปี 2007 ถึงปี 2009 เป็นดังนี้ครับ

กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Operating cash flow)
หน่วย: ล้านบาท
......2007... 2008... 2009
Q1..... 7.96... 9.35... 34.7
Q2..... 35.5... 35.3... 80.6
Q3..... 4.2... 13.2... 64.9
Q4..... 20.0... 31.8... ???
Total... 67.8... 89.6... 180.2 (ยังไม่รวม Q4!!!)
ทำให้ได้ค่าเฉลี่ยของกระเงินสดจากการดำเนินงานต่อปีประมาณ 122.76 ล้านบาท

กระแสเงินสดจากการลงทุน (Investing cash flow)
หน่วย: ล้านบาท
......2007... 2008... 2009
Q1..... -6.7... -4.8... -7.2
Q2..... -6.7... -7.0... -5.2
Q3..... -7.9... -5.7... -25.8
Q4..... -6.5... -3.9... ???
Total... -27.9... -21.4... -38.3 (ยังไม่รวม Q4)
เมื่อเทียบกับค่าเสื่อมราคาแล้วพบว่าอยู่ที่ระดับ 40 - 60% ของค่าเสื่อมราคา ยกเว้นในปี 2009 ที่มีการ renovate ร้านเพื่อปรับปรุงให้ดูดีขึ้น
แต่ด้วยการคิดแบบปลอดภัยไว้ก่อน โดยสมมติว่าลงทุนเท่ากับค่าเสื่อมราคา ทำให้ได้ค่าเฉลี่ยของกระเงินสดจากการลงทุนต่อปีประมาณ -48 ล้านบาท

จะทำให้ได้กระแสเงินสดอิสระต่อปีที่คำนวนได้อย่างง่ายคือ 74.5 ล้านบาทต่อปี

ในขณะนั้น BATA มีมูลค่าตลาดเท่ากับ 293 ล้านบาท และมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจากเงินกู้ธนาคารอยู่ 47.9 ล้านบาท แต่เมื่อดูเงินสดในงบดุลแล้วพบว่ามีเกินเหลือความจำเป็น ซึ่งสามารถนำเงินสดส่วนเกินนั้นมาชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ดังนั้น หนี้สินในกรณี BATA จึงไม่ต้องนำมารวมในการประเมินมูลค่า

หากคิดจำนวนปีที่จะคุ้มทุนก็จะพบว่าเท่ากับ 3.9 ปีเท่านั้น (293/74.5) คิดเป็นอัตราตอบแทนประมาณ 25%

ดังนั้น หุ้น BATA ผ่านกฎข้อที่ 4 ของผมครับ

5) หนี้สินประมาณ 47.9 ล้านขณะที่เงินสดของกิจการที่อยู่ในบัญชี ณ Q3-09 มีถึง 104 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามากเกินพอเมื่อเทียบกับระดับเงินสดในปีที่ผ่านมาที่ระดับ 30 ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้น หุ้น BATA ผ่านกฎข้อที่ 5 ของผมด้วยคะแนนเกินร้อย

6) หุ้นตัวนี้เป็นอะไรที่เราสามารถติดตามได้ง่าย และเข้าใจได้ไม่ยาก เราสามารถเดินดูกิจการได้ตามห้างสรรพสินค้า รวมทั้งสามารถทดลองใช้บริการได้ด้วยตัวเอง
ดังนั้น หุ้น BATA ผ่านกฎข้อที่ 6 ครับ

สรุปได้ว่า BATA ผ่านกฎการกรองหุ้นแบบมือใหม่สไตล์ doodeemak ทั้ง 6 ครับ

ในแง่มุมของการประเมินราคาหุ้น (อันนี้ผมยังไม่ได้เขียนบทความในรายละเอียด แต่ขอนำมาเกริ่นคร่าวๆไว้ก่อน)

หากทำการคิดลดกระแสเงินสดอิสระโดยใช้อัตราผลตอบแทนคาดหวังที่ 15% แบบ No growth ตามสูตรง่ายๆคือ 74.5/15% จะได้มูลค่า BATA ที่ 496.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าต่อหุ้นคือ 15.2 บาท เมื่อคิดส่วนเผื่อความปลอดภัยที่ 30% จะได้ราคาเป้าหมายที่ 10.66 บาทต่อหุ้น

ในขณะที่ตอนนั้น ราคาตลาดอยู่ที่ 9 บาทต่อหุ้น!!!

ลองดูปัจจัยเชิงคุณภาพก็พบว่า ร้านค้า BATA นั้น ดูทันสมัยมากขึ้น และแบบรองเท้าที่นำออกมาวางขาย ก็ดูเข้ายุคเข้าสมัย ราคาไม่แพงจนเกินไป อีกทั้งสาขาก็ยังสามารถขยายได้ตามการเติบโตของ Modern trade

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผมจึงเคาะขวาแบบไม่ลังเล !!!

และเมื่อราคาขยับขึ้นมาที่ระดับ 15 บาท ผมจึงค่อยๆทยอยขายส่วนหนึ่ง เพราะถึงราคาเป้าหมาย

แต่ในที่สุด BATA ก็มีอันที่จะต้องออกจากตลาด เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งสาเหตุหลักคือสภาพคล่องที่ไม่ผ่านกฎของตลาดหลักทรัพย์ที่ราคาเสนอซื้อที่ 17.5 บาทต่อหุ้น

ทำให้ผมขายจนหมด port ในราคา 17.1 ที่มีการซื้อขายหลังจากประกาศที่ออกจาก BATA

ปล. แต่ไม่ได้กำไรมากมายนะครับ เพราะปอดเล็กมาก..แฮ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น