วันศุกร์, พฤษภาคม 21, 2553

งบกระแสเงินสด...กับมือใหม่

เป็นกระทู้ที่ผมตอบไว้ในเว็บ Thaivi.com จึงขอนำมาแป่ะเก็บไว้ใน Blog ด้วยครับ

งบกระแสเงินสดจะแสดงการได้มาและใช้ไปของเงินสดของกิจการ บางท่านอาจจะคิดว่าเงินสดเป็นอะไรที่วัดได้ยากเพราะมีการไหลเข้าไหลออก ทำให้บางครั้งดูแล้เวียนหัว ไม่สามารถสะท้อนภาพของกิจการออกมาได้จริง

แต่ในความจริงแล้ว ในงบรายไตรมาสหรืองบประจำปี ผมคิดว่าเพียงพอ และน่าเชื่อถือ เพราะไม่ใช่เป็น daily transaction แต่เป็น quaterly และ yearly

ในส่วนของการดู แนะนำว่าให้มองหาบรรทัดสุดท้ายที่มีคำว่า "เงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมดำเนินงาน" แล้วขีดเส้นใต้ไว้ครับ

จากนั้นก็มองหาบรรทัด "เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมลงทุน" แล้วขีดเส้นใต้ไว้ครับ

จากนั้นก็มองหาบรรทัด "เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงิน" แล้วขีดเส้นใต้ไว้ครับ

ทีนี้เราก็มาดูความหมายของแต่ละตัวนะครับ


"เงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมดำเนินงาน"

ตัวนี้จัดได้ว่าเป็นผลลัพธ์ของการดำเนินธุรกิจเลยทีเดียว สำหรับมือใหม่ให้ดูว่า เป็นบวกต่อเนื่องหลายๆปีหรือไม่ ส่วนการปรับปรุงผมมักจะตัดรายได้หรือรายจ่าย พิเศษออก
เงินสดจากการดำเนินจะแบ่งเป็น 2 ช่วงย่อยคือช่วงก่อนเปลี่ยนแปลง ในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงานและช่วงหลัง
ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลง จะมีรายการสำคัญๆคือการปรับปรุงกำไรทางบัญชี ให้เป็นกำไรที่เป็นเงินสด โดยมีรายการหลักคือ
- ค่าเสื่อมราคา
- ค่าตั้งเผื่อด้อยค่า (เป็นการประมาณการทางบัญชี)
- ดอกเบี้ยจ่ายหรือรับ (เป็นค่าใช้จ่ายหรือรายได้ทางด้านการจัดหาเงินทุน)
ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลง จะเป็นการแสดงถึงการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน หมุนเวียนจากการดำเนินงาน ว่าบริษัทใช้เงินสดเพื่อซื้อของมาตุนเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือมีการให้ credit term ลูกหนี้ยาวขึ้นหรือไม่ ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์เพิ่ม เติมได้จากรายละเอียดประกอบงบที่แสดงคุณภาพของลูกหนี้และการแบ่ง ประเภทของสินค้าคงเหลือ
หากกระแสเงินสดก่อนการเปลี่ยนแปลง มากกว่า หลังการเปลี่ยนแปลงมากๆ แสดงว่าบริษัทมีการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่แย่ลง (แต่หากยอดขายสูงขึ้น ต้องมีการวัดด้วย ratio เพื่อเทียบออกมาเป็นหน่วย "วัน" เพื่อสามารถเทียบได้)
ในส่วนของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โดยส่วนมากผมไม่ค่อยปรับปรุง เท่าไหร่ แค่ใช้การดูหลายๆปีย้อนหลัง ว่ามีการแกว่งขึ้นลงมากหรือไม่และ ที่สำคัญ เรารู้หรือไม่ว่าการแกว่งนั้นเกิดจากสาเหตุใด จะมีปรับปรุงบ้างก็ต่อเมื่อเราพบว่าอนาคตของกิจการมีโอกาสเติบโตหรือถดถอย โดยการประมาณการเพิ่มหรือลดลงเป็นสัดส่วนเทียบกันระหว่างกระแสเงินสด จากการดำเนินงานกับยอดขาย


"เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมลงทุน"

ตัวนี้เป็นเงินสดที่กิจการใช้ในการลงทุนในส่วนของทรัพย์สินระยะยาว เพื่อให้เกิดกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาให้กับกิจการดังนั้น การใช้จ่ายในส่วนนี้ ส่วนมากจะเป็นการลงทุนซื้อที่ดินหรือเครื่องจักร
ค่าใช้จ่ายตัวนี้ เราสามารถนำไปเทียบกับค่าเสื่อมราคาได้ครับ โดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายการลงทุนผมมักจะเทียบกับค่าเสื่อมราคาและดูย้อนหลังไปหลายๆปี หากว่าบริษัทมีการลงทุนสูงอย่างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับค่าเสื่อมราคา ทั้งๆที่รายได้ก็ไม่ได้อะไรมากมาย หรือไม่ได้สร้างธุรกิจใหม่ๆอันนี้ก็ขอบายครับ
แต่หากการลงทุนนั้น ทำไปเพื่อการสร้าง line ธุรกิจใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นการซ่อม แซมเพื่อยืดอายุการใช้งาน ก็ต้องมีการปรับปรุงครับ เช่นหากกิจการทำการ ซ่อมแซมครั้งใหญ่มาก ซึ่งเราวิเคราะห์แล้วว่าไม่น่าจะเป็นการซ่อมที่เกิดเป็น ประจำ เช่น TR ที่เมื่อปีสองปีก่อนมีค่าใช้จ่ายตัวนี้มาก เพราะมีการเปลี่ยน line ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี อันนี้ผมก็จะปรับปรุงมันครับ โดยดูใช้ค่าใช้จ่ายเพื่อการ ลงทุนในอดีตปรับเพิ่มด้วยค่าใช้จ่ายการลงทุนพิเศษหาร 20 เพื่อทำเป็นค่าเฉลี่ย
ในทางกลับกันสำหรับบางกิจการ เงินสดจากกิจกรรมลงทุนอาจจะติดลบ มากๆ เพราะเกิดจากการที่เค้ามีเงินสดอิสระเหลืออยู่มากครับไม่รู้จะเอาไปทำ อะไรจะปันผลก็กลัวผู้ถือหุ้นจะโดนหักภาษีเยอะ บางทีเค้าก็เอาไปลงทุน ในธนาคารกินดอกเล่นๆก็มี
อันนี้ก็แสดงว่าเป็นการลงทุนที่ไม่เพิ่มมูลค่าครับ แต่หากกันไว้เพื่อลงทุนใน ปีถัดๆไป ก็ต้องดูว่ากันไว้ในปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่โดยดูประวัติการใช้เงิน ย้อนหลังก็จะช่วยให้เห็นภาพของเจตนาของผู้บริหารครับ
ยกตัวอย่างเช่น TR ก็กันไว้ค่อนข้างมากในปีสองปีที่ผ่านมา เพราะต้องการ ปรับปรุง line การผลิตครั้งใหญ่ แต่หากปีนี้ยังกันไว้เยอะอยู่ล่ะก็...น่าคิดครับ เพราะบางครั้ง เค้าอาจจะเอาเงินตัวนี้ไปซื้อกิจการร่วมหรือไปลงทุนที่ไม่ คุ้มค่าหรืออาจจะไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการเติบโตของธุรกิจโดยตรง
เงินสดจากการดำเนินงานหักออกด้วยเงินสดจากการลงุทนหลังจากปรับปรุง ก็จะได้เป็นกระแสเงินสดอิสระ ที่ผมจะนำมาเทียบกับมูลค่าตลาด


"เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงิน"

ตัวนี้เป็นแหล่งที่มาหรือใช้ไปของเงินสดที่มาจากผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ซึ่งรวมทั้งเงินกู้ธนาคารและส่วนเพิ่มทุนและเงินปันผลจ่ายของเจ้าของ
โดยปกติแล้ว หากกิจการสามารถดำเนินงานได้อย่างไม่มีปัญหา ตัวนี้มักจะ มีเพียงรายการของเงินปันผลจ่ายครับ แต่หากเมื่อใดกิจการเกิดการขาด สภาพคล่องมากๆ ทำให้ต้องมีการกู้หนี้ยืมสิน ก็ต้องมาพิจารณาว่าเกิดจากอะไรซึ่งอาจจะเกิดจาก
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบมากๆ
- กระแสเงินสดจากการลงทุนติดลบมากๆ
ถ้าเป็นกรณีแรก ก็ไม่ค่อยดีนะครับ ต้องมาดูว่าเกิดจากช่วงก่อนหรือหลัง การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียน ถ้าเกิดขึ้นก่อน แสดงว่าอาการไม่ดีแล้วล่ะครับ เพราะแสดงว่าเส้นเลือดใหญ่กำลังรั่ว แต่หากเกิดหลังเงินทุนหมุนเวียน แสดงว่ากิจการกำลังสูญเสียเงินไปจมในลูกหนี้ หรือสินค้าคงเหลือมากเกินไป ให้ลองหาต่ออีกทีว่าเกิดจากปัจจัยใด
ถ้าเป็นกรณีทีสอง ที่เกิดจากเงินลงทุนติดลบมากๆ ก็ต้องมาดูครับว่ากิจการ ลงทุนไปกับโครงการใด เกี่ยวข้องและส่งเสริมให้ตัวธุรกิจมีอนาคตมากขึ้น หรือไม่ โดยลองดูประวัติย้อนหลังว่าค่าใช้จ่ายการลงทุนครั้งใหญ่ในอดีตนั้น ได้ส่งผลต่อกำไรหรือยอดขายในปัจจุบันอย่างไร
กล่าวโดยสรุปมันจะเป็นวงเวียนตามนี้ครับ
จัดหาเงิน --> ใช้เงินเพื่อลงทุน --> ได้เงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน --> จัดหาเงิน (จ่ายปันผลและกันเงินสำรองไว้ลงทุนต่อ) --> ใช้เงินเพื่อลงทุน --> ได้เงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน
วนไปเรื่อยๆครับ
บริษัททีดีก็จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เป็นบวกสม่ำเสมอและโตขึ้นๆ แล้วก็นำเงินที่เหลือไปจ่ายเงินปันผลหรือเอาไว้ลงทุนในโครงการที่ได้ผล ตอบแทนงามๆ มากขึ้นๆ

ปล. เป็นการอธิบายโดยอ้างอิงจากงบของหุ้นที่เป็นการผลิตสินค้าเป็นหลักนะครับ ส่วนหุ้นประกันหรือธนาคารผมยังไม่สามารถครับ ต้องให้ผู้ช่วยชาญอธิบาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น