วันอังคาร, สิงหาคม 31, 2553

Inactive investor

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ตัวเองรู้สึกว่าเฉี่อยชาหรือขี้เกียจกับการหาหุ้นลงทุนเหลือเกิน
คงเป็นเพราะปัจจัยหลายๆอย่างคือ

1) งานประจำที่ชุกมาก
2) หุ้นที่ถืออยู่ราคายังไม่ถึงเป้าหมาย เลยไม่รู้จะขายทำไม
3) หุ้นที่สนใจเมื่อเทียบมูลค่ากระแสเงินสดเฉลี่ยในอดีตกับ Market cap ยังไม่มีตัวไหนน่าดึงดูด
4) ข้อนี้สำคัญที่สุด คือไม่มีตังค์ลงทุน...ฮ่า

เลยขอขึ้นต้นบทความว่า Inactive investor หรือนักลงทุนผู้เฉี่อยชา..

ช่วงนี้เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวเองตอนนี้เนื่องจาก 4 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น แต่ปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นที่ว่า ตอนนี้หาหุ้นที่มีกระแสเงินสดอิสระงามๆแต่ราคาถูกๆแทบไม่เจอ

แตกต่างจากตอนหาหุ้นเมื่อช่วงเดือนเมษากันลิบลับ

ผมว่าบางครั้งการอยู่เฉยๆเพื่อรอมูลค่าของหุ้นที่เราลงทุนงอกงามออกมา ก็เป็นความสุขเล็กๆอย่างนึงเหมือนกันนะครับ เมื่อเรารู้ตัวว่าเวลาของเราไม่ได้มี full time เหมือนนักลงทุนมืออาชีพ ดังนั้น scope ความรู้ของหุ้นเราก็จะต้องแคบลงมาด้วยเหมือนกัน

และหากต้องการผลตอบแทนที่สูงๆ แน่นอนว่าการซื้อโดยคำนึงถึงส่วนต่างที่เผื่อมากๆนั้น อาจจะหาไม่ได้ในช่วงเวลาแบบนี้

ดังนั้น บทสรุปของผมก็คือ ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังสนุกสนานและเพลิดเพลินกับตลาดหุ้นที่ขึ้นเอาๆ Inactive investor อย่างผมก็คงทำได้แค่สะสมเงินทุนเพื่อรอช่วงเวลาที่มี MOS ที่เพียงพอ และคอยมองดูหุ้นที่เราลงทุนแต่ยังไม่ถึงมูลค่าตามเป้าหมายเติบโตทีละน้อยๆอย่างมีความสุข

วันพุธ, มิถุนายน 16, 2553

TR หุ้นสองบุคลิก

หุ้น TR หรือบริษัทไทยเรยอน เป็นหุ้นที่ผมชื่นชอบมากในแง่ของการ "หาเงิน" แต่ก็เป็นหุ้นที่ผมไม่ชอบมากอีกเหมือนกันในแง่ของการ "ใช้เงิน"

ในด้านการ "หาเงิน" model ของ TR จัดได้ว่าเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง เป็นเจ้าเดียวในประเทศที่ผลิตเส้นใยเรยอน เมื่อครั้งไปดูโรงงานก็พบว่ามีการบริหารจัดการที่ดี ผู้บริหารดูมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและพยายามลดต้นทุน

ในด้านการ "ใช้เงิน" สามารถแบ่งเป็นสองส่วนคือ
ส่วนการใช้เงินลงทุนเครื่องจักรเพื่อแทนเครื่องเก่าหรือสร้าง line การผลิตใหม่และ
ส่วนที่สองคือการลงทุนไปยังบริษัทในเครือ

ประเด็นแรกไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเป็นการทดแทนเครื่องจักรเก่า ซึ่งมีแต่จะทำให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากรายได้ของไลน์ใหม่และต้นทุนที่ประหยัดจากเครื่องจักรใหม่

แต่ประเด็นที่สองนับว่าเป็นจุดบอดที่ทำให้ผมคิดว่าการลงทุนใน TR อาจจะไม่คุ้มค่า (หรือต้องต่อราคามากหน่อย) ก็เพราะว่าการเอาเงินไปลงทุนในบริษัทในเครือที่สูญเปล่าโดยไม่มีอะไรตอบแทนกลับมาเป็นเงินสดนอกเสียจากสิ่งที่เรียกว่า "ส่วนแบ่งกำไร" ทางบัญชี

ยกเว้นการลงทุนใน TCB เพียงตัวเดียวที่ดูดีมี return on investment มากกว่า 10% จากเงินปันผล นอกนั้นการลงทุนในบริษัทอื่นๆดูเหมือนจะเป็น conflict of interest ระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่กับผู้ถือหุ้นรายย่อย
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สามารถขยายกิจการในต่างประเทศอย่างง่ายดาย โดยการใช้กระแสเงินสดที่ TR สร้างขึ้นมาไปซื้อหุ้น ในขณะที่หนทางในการนำเงินจากธุรกิจใหม่ที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยตรงจากตลาดหลักทรัพย์ สามารถจ่ายผ่านช่องทางอื่นๆได้ง่ายๆ เช่น ค่า Management fee หรือ Royalty fee
ตรงนี้เป็นสิ่งที่รายย่อยไม่สามารถเข้าถึงและเผลอๆ ชาตินี้ทั้งชาติอาจจะไม่ได้เห็นอะไรกลับมาจากการลงทุนในบริษัทย่อย นอกเสียจาก "ส่วนแบ่งกำไร" ทางบัญชี

ปล. สัดส่วนเงินลงทุนในบริษัทย่อยของ TR ในงบดุลแทบจะมีสัดส่วนเกือบ 50% ของสินทรัพย์รวมเข้าไปแล้ว

ต่อไปนี้เป็น comment ที่ผมเคย post ในกระทู้ร้อยคนร้อยหุ้นของหุ้น TR เมื่อวันที่ 28 Nov 2009 ระหว่างรองบปีออกครับ


EPS คงจะผันผวนน้อยลงนะครับ มีสาเหตุหลักคือ

1) เดือนตุลาคม 2552 มีการเปลี่ยนนโยบายการคิดต้นทุนวัตถุดิบจาก FIFO เป็น Moving avg.

2) นโยบายการขายของและการสั่งวัตถุดิบที่ match กันจาก Annual report (แต่ข้อนี้มีอยู่ก่อนแล้ว)

3) Trend ในอดีตที่ราคาขายกับราคาวัตถุดิบหลักมักไปด้วยกัน (แต่ให้ผลที่ดีมากกว่าถ้าราคาขายขึ้น ถึงแม้ต้นทุนจะขึ้นด้วยก็ตาม)

4) ถ้าในอนาคต Modal ที่มีส่วนต่างกำไรสูงกว่า สามารถเพิ่มสัดส่วนได้อย่างต่อเนื่อง (จะช่วยไป offset ในกรณีที่เป็น trend ราคา rayon --> Price variance ไม่ดีแต่ Mixed variance ดี)

แต่แปลกดีจังครับ TR นี่

กำไรต่ำกว่าปีที่แล้วตั้งเยอะ

แต่ Free cash flow กลับสูงสุดในรอบ 4 ปี

และคิดว่าจะทำ New high ในปีหน้าและปีหน้าๆจากการที่ราคาขายสูงขึ้นหนึ่งเด้งและการลงทุนที่ลดลง 1 เด้ง (ปีนี้ลงทุนแค่ 60% ของค่าเสื่อมเอง)

Operating cash flow ก็ไม่สะทกสะท้าน

เห็นทีใครว่า TR เป็น cyclical stock นี่ คงใช้ไม่ได้ถ้ามองในมุมของกระแสเงินสด
(รึเปล่า)

แต่ก็มีข้อเสียหลายข้อนะครับเจ้า TR นี่

1) Working capital สูงประมาณ 20% ของยอดขายทำให้กระแสเงินสดที่ได้จากการเติบโตถูกสะกัดดาวรุ่งด้วยการเพิ่มขึ้นของ Working capital ซึ่งท้ายสุดก็เป็นสาเหตุ classic ที่จะตอบผู้ถือหุ้นว่าต้องสำรองเงินไว้ใช้ จึงไม่สามารถจ่ายเงินปันผลสูงๆได้ ซึงสาเหตุมาจากการสั่งซื้อวัตถุดิบเก็บ stock 2 เดือนแต่จ่ายเงินให้เจ้าหนี้ 2 สัปดาห์และให้ลูกหนี้ชำระเงินยาวนานถึงเดือนครึ่ง (ทั้งๆที่เป็นผู้ขาย Rayon เจ้าเดียวในประเทศและมีสัดส่วนยอดขายในประเทศกว่าครึ่งของยอดขายรวม)

2) ค่าใช้จ่ายในการสร้างสัมพันธ์และประกันอนาคตสูง ถึงสูงมาก เพราะท่านเล่นเอาทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกือบครึ่งนึงของ asset ไปประกันลูกพี่อินโด (อันนี้ยากจะยอมรับ dividend ต่อเงินลงทุนยังกะฝากแบงค์), ประกันเชื้อเพลิงจากเจ้าดำ (แต่อันนี้พอรับได้เพราะ dividend ดี) และตัวแสบสุดๆก็บริษัทที่มีชื่อคล้ายๆกับบริษัทแม่ที่แม้แต่ dividend ก็ยังไม่ได้รับซักบาท (แถมไม่รู้ด้วยว่าเจ้านี่ช่วยอะไรให้ TR บ้าง) และล่าสุดประกันอนาคตอย่างไกลที่จีนและลาว

เหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินปันผล TR ไม่ไปไหนซักที

ไม่ทราบว่าวิเคราะห์ถูกหรือผิดอย่างไร โปรดชี้แนะด้วยครับ

ปล. ยังสงสัยอยู่ว่าหากพี่ท่านจะขายหุ้นอินโดที่เป็นลูกค้าออกไป เค้าจะไม่ซื้อกับ TR รึเปล่า หรือหากพี่ท่านขายหุ้นบริษัทที่ชื่อคล้ายๆแม่ออกไป จะส่งผลอะไรกับ TR บ้าง เพราะข้อตกลงการซื้อขายก็เป็นไปตามราคาตลาดอยู่ดี

ผมชอบมากกว่าหากผู้บริหารไม่ลงทุนแบบซื้อหุ้นบริษัทร่วม แต่ควบรวมเป็นบริษัทเดียวกัน แต่ต่างสาขาน่ะครับ (อันนี้ผมคิดเองเล่นๆ ไม่ทราบว่าเป็นไปได้รึเปล่า)

เพราะการถือหุ้นบริษัทร่วม สิ่งที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ก็คือกำไรทางบัญชีที่ไม่รู้ว่าจะกลับมาเป็นเงินสดถึงมือเราเมื่อไหร่ นอกจากจะมีปันผลที่เหมาะสมเช่น TCB โดยกระแสของเงินจะเป็นแนวนี้

TR --> สร้างเงินสด --> เอาไปลงทุนในบริษัทร่วมโดยการถือหุ้นเพิ่ม --> ผู้ถือหุ้นในบริษัทร่วมก่อนหน้าซึ่งก็คือผู้ถือหุ้นใหญ่ได้เงินเข้าเป๋า หรือนำไปขยายกิจการต่อไปเรื่อยๆ --> บริษัทร่วมเติบโตมีกำไร --> แสดงในส่วนแบ่งกำไรในงบ TR --> พอโตจนได้ที่ แทนที่จะจ่ายปันผล บริษัทแม่กลับสร้างกิจการใหม่ขึ้นมา --> บริษัทร่วมของเรานี้ก็เอาไปลงทุนต่อในบริษัทร่วมใหม่นั้น --> ไม่รู้จบ


จนกว่าจะมีกรณีแบบ TCB คือได้เป็นงินปันผลคืนกลับมา ไม่เช่นนั้น ก็เหมือนกับการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้บริษัทแม่เท่านั้นล่ะครับ ในขณะที่ผู้ถือหุ้น TR ได้เพียงกำไรทางบัญชีที่ไม่มีวันจะกลับมาเป็นเงินสด หากบริษัทแม่ยังสร้างบริษัทใหม่และใช้เงินทุนจากบริษัทร่วมด้วยกัน แทนที่จะระดมทุนจากแหล่งอื่นๆ

ผลก็คือ wealth ของผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ถูกโอนอย่างละม่อม ทีละน้อย ทีละน้อย ไปที่บริษัทแม่ โดยบริษัทแม่ไม่จำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่เลย (มองในแง่ร้ายไปรึเปล่า)

จนกว่าซักวันหนึ่ง (ไม่รู้ว่ากี่สิบปีหรือกี่ร้อยปี) ที่บริษัทแม่จะหยุดการเติบโตหรือหยุดกิจการแล้วจ่ายเงินปันผลกลับมา

ในขณะที่การ take over มาเป็นบริษัทเดียวกันแบบ vertical integration จะทำให้สร้างมูลค่าได้โดยตรง เพราะช่วยลดต้นทุน (ปัจจุบันบริษัทยังต้องซื้อจากบริษัทร่วมในราคาตลาด) หรือเพิ่มรายได้ทางตรง ซึ่งผลออกมาก็จะเป็นเงินสดที่ได้ใน TR เองดัง flow นี้

TR --> สร้างเงินสด --> ลงทุนสร้างโรงงานผลิตเยื่อหรืออื่นๆโดยเป็นชื่อตัวเอง --> ต้นทุนลดลง --> กำไรเงินสดสูงขึ้น --> เงินสดสูงจนล้น --> ปันผลออกมา --> เงินที่เหลือไปหาที่ลงทุนต่อ --> ต้นทุนต่ำลงอีกหรือรายได้เพิ่มขึ้นอีก --> เงินสดสูงขึ้น --> เพิ่มปันผลอีก

จะเกิดอะไรขึ้นครับ หากบริษัทร่วมที่ลาวที่เพิ่งปลูกต้นไม้มีกำไรแต่ขยายตัวต่อไปเรื่อยๆโดยไม่มีการจ่ายปันผลกลับมาเป็นเวลาหลายๆปี ซึ่งเค้าเองสามารถโตได้ด้วยการเพิ่มทุนจากเงิน TR ที่คอยซื้อหุ้นเพิ่มเรื่อยๆ ทุกปีๆ

คำตอบก็คือ เงินสดหรือกำไรใน Retain earning ของ TR จะเป็นแหล่งเงินทุนชั้นดีให้บริษัทร่วม และจะแสดงให้เห็นในงบดุลเงินลงทุนของบริษัทร่วมที่โตเอาๆ แต่กลับไม่มีเงินปันผลตอบแทนกลับมาเลย โดยกำไรทางบัญชีส่วนหนึ่งจะได้มาจากส่วนแบ่งเหล่านี้ (ในขณะที่ปันผลยังต่ำเตี้ยเหมือนเดิม เพราะต้องคอยเอาเงินไปป้อนให้บริษัทร่วม) สังเกตได้จากกำไรทางบัญชีสูงขึ้นเรื่อยๆจากส่วนแบ่งบริษัทร่วม แต่เงินสดอิสระยังเท่าเดิม

ในขณะที่การที่บริษัท TR ไปเป็นคนปลูกป่าที่ลาวเอง จะให้ผลที่แตกต่างกัน นั่นคือกำไร TR จะสูงขึ้นเนื่องจากได้ต้นทุนที่ถูก ผลตอบแทนจะได้กลับมาเป็นเงินสดที่สูงขึ้นในงบดุล ไม่ใช่ เงินลงทุนในบริษัทร่วม และแน่นอนว่า เงินสดเหล่านี้จะกลับมาตอบแทนกลับให้ผู้ถือหุ้น TR โดยตรงในรูปแบบเงินปันผล

นี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่การประเมินมูลค่ากิจการ ควรประเมินจากกระแสเงินสดอิสระ ไม่ใช่กำไรทางบัญชีที่สามารถโยกย้ายถ่ายเทให้สวยหรูโดยที่นักลงทุนรายย่อยไม่รู้ตัว

ผิดถูกอย่างไร ชี้แนะด้วยครับ

อ้อ อีกวิธีหนึ่งที่ผมคิดว่าบริษัทจะสามารถถ่ายเทเงินสดแบบเนียนๆไปให้บริษัทร่วมก็คือการซื้อขายโดยกำหนด term การชำระเงินครับ

เช่น ถ้า TR ต้องซื้อเยื่อกระดาษจากบริษัทที่แคนาดา แต่เนื่องจากน้องแคนาดากำลังเติบโตและต้องการเงินสดไปลงทุนต่อเนื่อง จึงขอให้ TR จ่ายเงินให้เร็วๆหน่อย จากเดิมที่ถ้าซื้อที่อื่น TR จะจ่ายเงินภายใน 60 วัน พอเป็นน้องแคปุ๊บ บริษัทใจดี 7 วันก็โอนเงินให้เลย งานนี้น้องแคสบายเพราะไม่ต้องกู้เงินเพิ่มซักนิด

คนที่ทำธุรกิจจะรู้ซึ้งดีถึงเจ้าตัว working capital ว่าสำคัญต่อการเติบโตขนาดไหน การที่ TR ยอมจ่ายเงินให้น้องแคเร็ว จะทำให้บริษัทต้องอั้นเงินไว้ก้อนหนึ่งเพื่อมาหมุน ส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้มากเท่าที่ควร

หรือถ้าน้องอินโดที่เป็นลูกค้า TR บอกว่า เค้าต้องการเงินหมุนเวียนเพิ่มขอให้ยืดระยะเวลาชำระหนี้จากปกติ 30 วันเป็น 60 วัน ก็จะส่งผลให้ TR ต้องอั้นเงินไว้อีกก้อน เพราะเงินไหลเข้ามาช้าลง

การที่บริษัทมี % working capital สุงๆจะทำให้เป็นอุปสรรคอย่างมากในการเติบโต เพราะยิ่งโต จะยิ่งต้องการเงินหมุนมากขึ้น

ผิดถูกอย่างไร รบกวนชี้แนะด้วยครับ

ปล. ผมมีหุ้นนิดนึงนะครับ ไม่อยากให้รีบซื้อกันจนราคาสูงเกินไป

วันอังคาร, มิถุนายน 15, 2553

การประเมินมูลค่าหุ้นสไตล์ doodeemak

หลังจากทนเสียงเรียกร้องอันล้นหลาม(ของตัวเอง) ไม่ไหว วันนี้จึงได้ลองเขียนบทความการประเมินมูลค่าหุ้นสไตล์ doodeemak ซักทีนะครับ

จากการอ่านหนังสือบ้าง (ไม่อ่านบ้าง) จากบทความต่างๆบ้าง พบว่าวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นนั้นมีมากมายหลายวิธี (แล้วมรึงจะพูดทำไมฟะ) แต่โดยหลักๆแล้ว น่าจะสามารถแบ่งเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้

1) วิธีเปรียบเทียบกำไรกับชาวบ้านและตัวเองในอดีตกับราคาในตลาด
นั่นคือ ดูว่ากำไรที่บริษัทได้สร้างขึ้นมา เมื่อเทียบกับราคาในปัจจุบันแล้วถูกหรือแพง ซึ่งก็คือ P/E ratio นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น บริษัท กอไก่ มีกำไร 10 บาทต่อปี มีมูลค่าตลาดรวม 100 บาท อย่างนี้ก็จะได้ P/E = 100/10 ก็คือ 10 เท่า
หากเปรียบเทียบกับ P/E ในอดีตของบริษัทในปีก่อนๆ บริษัทเคยมี P/E อยู่ที่ประมาณ 15-20 เท่า อย่างนี้ก็แสดงว่าหุ้นบริษัทนี้ถูก
แต่วิธีนี้จะต้องระวังคือกำไรที่นำมา ควรจะเป็น "กำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต" ดังนั้นในกรณีหุ้นที่เป็นวัฎจักร ถ้าหากเราไปหลงซื้อตอนที่ PE ต่ำๆโดยคิดว่ามันถูก โดยหารู้ไม่ว่า มันถูกเพราะกำไรที่สูงเกินจริงในอดีต ทีนี้พอกำไรในอนาคตมันตกลง ก็กลับกลายเป็นว่า PE กระโดดขึ้นสูงไปมากและอาจจะทำให้ราคาตกลงในที่สุด
ทั้งนี้เราอาจเปรียบเทียบ P/E กับอุตสาหกรรมหรือบริษัทใกล้เคียงได้ตามความพอใจ (แต่จะยากซักหน่อย เพราะตลาดให้ PE ที่ควรจะเป็นของบริษัทแตกต่างกัน ตามโอกาสของการเติบโตของกำไรที่แตกต่างกัน)

ดังนั้น วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นโดยการใช้ PE ratio ก็คือการเอา PE ที่เหมาะสมของบริษัทนั้นๆ คูณด้วยกำไรต่อหุ้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคูณด้วย safety factor หรือ margin of safety เช่น อาจจะเผื่อความผิดพลาดไว้ 30% ก็คูณด้วย 0.7 เป็นต้น

วิธีนี้มีข้อดีคือ เข้าใจง่ายแต่ก็มีข้อควรระวังคือ
- PE ที่เหมาะสมนั้น อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลและความคาดหวังของตลาดต่ออนาคตของบริษัท
- กำไรที่ประมาณการนั้นต้องใช้ forward PE หรือกำไรในอนาคต ซึ่งควรจะเป็นกำไรที่เราสามารถล่วงรู้ได้ก่อนที่ราคาในตลาดจะตอบสนอง

2) วิธีเปรียบเทียบมูลค่าผู้ถือหุ้นทางบัญชีกับราคาในตลาด
คล้ายกับ PE แต่จะเป็นการมองมูลค่าส่วนผู้ถือหุ้นแทนกำไรหรือก็คือ P/BV (Price to Book value) โดยข้อแตกต่างจาก PE ratio ที่เห็นได้ชัดคือราคาที่ประเมินได้ จะอิงจากสินทรัพย์เป็นหลักซึ่งมีข้อดีคือมีความแน่นอนสูงไม่เหมือนกับกำไร แต่มีข้อเสียคือ การประเมินมูลค่า book value หรือส่วนของผู้ถือหุ้นนั้น ควรจะต้องมีการปรับปรุงสินทรัพย์ให้เป็นมูลค่าที่แท้จริง และถึงแม้ P/BV จะต่ำแต่หากผู้บริหารไม่คิดจะขายสินทรัพย์หรือนำสินทรัพย์ไปก่อให้เกิดประโยชน์ มูลค่าหรือราคาของหุ้นก็อาจจะยังคงไม่ไปไหน ส่วนวิธีการประเมินมูลค่าหุ้น ก็เลียนแบบ PE เลยครับนั่นคือดูว่า P/BV ในอดีตของบริษัทกับปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้า P/BV ในปัจจุบันต่ำกว่าในอดีตมากๆ ก็แสดงว่าถูก (แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังคุณภาพของสินทรัพย์ด้วยนะครับ)

3) วิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ
อันนี้ยากมากครับ สามารถหาอ่านได้จากตำราเล่มหนาๆ
ข้อดีคือ เป็นวิธีที่ใกล้เคียงที่สุดในการประเมินหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ เพราะคำนึงถึงเงินสดที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับ แต่มีข้อเสียคือสมมิตฐานที่นำมาใช้ หากเปลี่ยนนิดเดียว ก็จะทำให้มูลค่าหุ้นที่คำนวนได้เปลี่ยนไปมาก

โดยสรุปแล้วตามความเห็นของผม ทุกวิธีที่กล่าวมา ยากเกินไปทั้งนั้นเลย (แล้วมรึงจะพิมพ์มาตั้งนานหาพระแสงอะไร) ซึ่งการประเมินมูลค่าหุ้นนั้น ไม่น่าจะยากขนาดนั้น ก็เลยมาคิดว่าจะประเมินแบบไหนดีที่จะทำให้เรารู้สึกสบายใจในการถือหุ้นลงทุนโดยมีกฎเหล็กคือ "เงินต้นต้องปลอดภัย"

ผมจึงนั่งคิด (นอนคิดเป็นบางครั้ง) ว่าบริษัทลักษณะแบบไหนที่เวลาเราลงทุนแล้วเรารู้สึกปลอดภัยม้ากมาก ว่าเงินทุนเราจะไม่หล่นหายแถมเข้าซื้อในราคาถูก

คำตอบที่ได้จากเสียงเรียกของหัวใจก็คือ "บริษัทที่มีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกสม่ำเสมอและราคาถูกเมื่อเทียบกับราคาตลาด"

1) "บริษัทที่มีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกสม่ำเสมอ"

นั่นคือเป็นบวกและสม่ำเสมอในแนวที่สูงขึ้น คือไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุกๆปี แต่ขอให้มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นหรือคงที่
เพราะเวลาเราลงทุนอะไรลงไป เราย่อมต้องการให้กิจการนั้นมีเงินสดไหลกลับออกมาให้เรา เราถึงจะรู้สึกปลอดภัย

2) ราคาถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาด
ผมคิดง่ายๆว่า ขอคืนทุนภายในไม่เกิน 3-4 ปีกับธุรกิจตะวันตกดิน และคืนทุนภายในไม่เกิน 10 ปีสำหรับกิจการที่มีแนวโน้มยังโตได้อีก

ตัวอย่างเช่น กระแสเงินสดอิสระประมาณการมีมูลค่า 200 ล้านบาทและบริษัทไม่มีหนี้สิน มูลค่าตลาดของบริษัทที่ผมยอมซื้อในกรณีที่เป็นธุรกิจตะวันตกดินต้องไม่เกิน 600 ล้านบาท จึงจะรู้สึกปลอดภัย เป็นต้น

แต่หากเป็นกิจการที่มีแนวโน้มโตขึ้นๆ อาจจะยอมยืดเวลาคืนทุนออกไปเป็น 10 ปี ดังนั้นมูลค่าตลาดที่ผมยอมซื้อก็คือ 2000 ล้านบาท (โดยมองว่า 200 ล้านบาทในปัจจุบัน น่าจะเพิ่มขึ้นๆเรื่อยๆในอนาคต ซึ่งจะทำให้ราคาที่แพงในวันนี้ ถูกในวันหน้า)

ซึ่งตรงนี้ก็เป็นศาตร์และศิลป์ของแต่ละท่านในการประเมินมูลค่ากระแสเงินสดอิสระของกิจการ เพราะต้องมีการดูตัวเลขจริงในอดีตประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจและความสามารถทางการแข่งขันประกอบด้วย (หากมีโอกาสจะได้กล่าวถึงในบทความถัดๆไปนะครับ) จะเห็นได้ว่า วิธีนี้เราไม่ต้องคำนวนค่า WACC อย่างวิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ รวมทั้งไม่ต้องคอยประมาณกำไรที่จะเกิดในระยะสั้นๆแบบ PE และไม่ต้องประเมินมูลค่าสินทรัพย์ตาม P/BV อีกต่างหาก แต่วิธีจะมีข้อจำกัดตรงที่ กิจการที่มีกระแสเงินสดอิสระไม่สม่ำเสมอ ก็อาจจะไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งบางครั้ง อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสทองก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนสไตล์ doodeemak ต้องรักษากฎเหล็กไว้นะครับ คือลงทุนแล้วรู้สึกปลอดภัย เงินต้นไม่หาย

จากนั้นก็เอามูลค่าตลาดของหุ้นในใจที่ได้หารด้วยจำนวนหุ้นในตลาด เพียงเท่านี้ก็จะได้ราคาหุ้นในใจสไตล์ doodeemak แล้วล่ะครับ

วันจันทร์, มิถุนายน 07, 2553

วันประกาศอิสรภาพแห่งการลงทุนในหุ้น

วันสองวันมานี้ มีข่าวในแง่ลบค่อนข้างมากใน web Thavi ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ราคาหุ้นที่ได้จากการพบปะกับเซียนนั้น สูงขึ้นมากหลังจากงานพบปะสังสรรค์

หากเป็นเมื่อก่อน ผมคงเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ที่พยายามจะหาหุ้นคุณค่าจากเซียน แต่น่าแปลกว่าในปัจจุบันนี้ ผมแทบไม่มีความรู้สึกว่าอยากจะซื้อหุ้นตามเซียนเลย (แต่แอบมีบ้างเล็กๆ) ออกจะในแนวทางตรงกันข้าม คือไม่พยายามเข้าไปยุ่งกับหุ้นหรือกิจการที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะนั่นจะทำให้ต้นทุนในการเข้าซื้อลงทุนสูงขึ้นตามไปด้วย

อีกกรณีหนึ่งก็คือ การซื้อตามเซียนนั้น หากไม่ได้ทำการศึกษามาอย่างดีแล้ว นักลงทุนก็จะลงทุนอย่างไม่มีความสุข ไม่มีอิสรภาพ เพราะต้องคอยติดตามข่าวจากเซียนอยู่เสมอๆ ซึ่งนับเป็นความรู้สึกที่อึดอัดและไม่มีความสุขเป็นอย่างยิ่ง

ในความเห็นของผม สิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรทำก็คือการศึกษาและเรียนรู้จากเซียนท่านนั้นว่า ท่านมีหลักคิดหรือมีแนวทางการหาหุ้นอย่างไร แล้วพยายามนำไปปรับใช้ในกระบวนท่าการลงทุนเพื่อพัฒนาออกมาเป็นแนวทางการลงทุนของตัวเอง

วันนี้อาจจะเป็นวันประกาศอิสรภาพของตัวผมเอง เนื่องจากเป็นวันที่ผมสามารถ "สอบผ่าน" บททดสอบใจตัวเองในการซื้อหุ้นตามคนอื่นได้ ผมจึงขอเหมาเอาเองว่า การลงทุนแบบ VI ของผมนั้น น่าจะเลื่อนขั้นมาได้ระดับหนึ่ง หากเปรียบกับการเรียนในโรงเรียน วันนี้ก็น่าจะเป็นวันประกาศผลสอบว่าผมสามารถสอบผ่านชั้น ป.1 ไปสู่ชั้น ป.2 ได้นั่นเอง

วันศุกร์, มิถุนายน 04, 2553

แนวทางการลงทุน 4 สาย

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า การลงทุนแบบ Value Investment นั้นดูจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นของผมในการมองลักษณะผู้คนที่เรียกตัวเองว่า VI ผ่านเว็บ Thaivi ว่าสามารถจัดแบ่งประเภทของกลุ่มนักลงทุนเหล่านั้นออกเป็นสายๆได้อย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะมีการแบ่งกลุ่มแบ่งสำนักแตกต่างจากท่านอื่นๆนะครับ

สายที่ 1: เน้นทรัพย์สินมาก
ผมคิดว่านักลงทุนที่เหมาะกับสายนี้ จะต้องเป็นนักลงทุนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ค่อนข้างดี ชอบความปลอดภัย ในบางครั้งอาจจะต้องซื้อแล้วรอ เพื่อให้มูลค่านั้นปลดปล่อยออกมา (หรืออาจจะซื้อแล้วลืม ทิ้งไว้เป็นมรดกไปเลย) รวมทั้งการรอให้ราคานั้นมีความปลอดภัยค่อนข้างมากดังนั้น หากนักลงทุนเลือดร้อนที่ต้องการความสำเร็จในระยะสั้น การลงทุนในแนวนี้อาจจะไม่เหมาะ เพราะอาจจะทนรอไม่ไหวจนต้องขายขาดทุนไป

สายที่ 2: เน้นกำไรแบบก้าวกระโดดใน 1-2 ปี
นักลงทุนที่เหมาะกับสายนี้จะต้องเป็นนักลงทุนที่มีเวลาค่อนข้างมากเพื่อทำให้ตัวเองนั้นมีความรู้ความเข้าใจ มีข้อมูลข่าวสารเหนือคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประมาณการกำไรในอนาคต เพราะเค้าจะสามารถเข้าถึง "สาเหตุของกำไร" ได้อย่างดีและจะต้องมีความมั่นใจค่อนข้างสูงว่าเค้านั้นจะเป็นคนแรกๆที่รู้ตัวก่อนว่า "สาเหตุของกำไร" มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ "ซื้อ" และ "ขาย" ก่อนนักลงทุนรายอื่นๆ แต่หากเป็นนักลงทุนมือใหม่ที่ยังไม่มีความเข้าใจ "ข่าว" หรือ "สาเหตุของกำไร" ที่เขาทราบนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ล่าช้ากว่านักลงทุนผู้ชาญฉลาด ทำให้ต้นทุนในการซื้อนั้นสูง และยังไม่สามารถรู้ได้ว่า เมื่อไหร่ที่เค้าสมควรจะขาย เพราะเค้าไม่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถเข้าใจ "สาเหตุของกำไร" ได้อย่างแท้จริง ตัวอย่างที่พบเห็นอยู่ตาม webboard ของ Thaivi ที่ผ่านมาก็เช่น กระทู้การขาดทุนหุ้น TRC ที่เป็นหุ้นโครงการและประสบปัญหาขาดทุนทำให้ราคาหุ้นตกลงอย่างหนัก

สายที่ 3: เน้นความปลอดภัยของเงินต้นและเงินปันผล
นักลงทุนสายนี้ควรจะต้องเป็นนักลงทุนที่มีความสามารถในการอ่านงบการเงินได้ค่อนข้างดี รวมถึงการอ่านค่า ratio การทำกำไรและงบกระแสเงินสด นักลงทุนที่เหมาะสม จึงควรเป็นผู้ที่มีความรู้ทางบัญชีเพื่อที่จะสามารถกรองหุ้นที่มีความปลอดภัยจากหนี้สินรวมถึงปริมาณกระแสเงินสดและยังต้องสามารถประมาณราคาได้อย่างดีและมีความอดทนในการรอและซื้อหุ้นในจังหวะทีมีราคาที่มีส่วนลดมากๆ เพื่อเป็นการสร้างกำไรให้งอกเงยได้โดยไม่เสี่ยง

สายที่ 4: เน้นศักยภาพและการเติบโตที่ยั่งยืน
นักลงทุนกลุ่มนี้จะมองศักยภาพของธุรกิจและ business model เป็นหลัก ว่าหุ้นตัวที่เขาต้องการนั้น จะยังสร้างกำไรที่ดีได้ในอนาคต 3-5 ปี หรืออาจจะ 10 ปีได้หรือไม่ ดังนั้น นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จในสายนี้ ควรจะเป็นนักลงทุนที่มีความสามารถในการอ่านและทำนายพฤติกรรมและ trend ในอนาคตของธุรกิจต่างๆได้เป็นอย่างดี

ผมจึงลองสรุป VI ทั้ง 4 สายตามจุดแข็ง, ผลตอบแทน และความเสี่ยงได้ดังนี้ครับ

สายที่ 1: เน้นทรัพย์สินมาก
จุดแข็งที่นักลงทุนต้องมีคือ: ความสามารถในการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่ซ่อนอยู่และมีความอดทนในการรอ
ผลตอบแทน: น้อยช่วงแรกแต่จะพุ่งมากที่สุดเมื่อทรัพย์สินที่ซ่อนอยู่ถูกปลดปล่อยออกมา
ความเสี่ยง: เวลาในการรอคอยอาจไม่คุ้มกับค่าเสียโอกาส

สายที่ 2: เน้นกำไรแบบก้าวกระโดดใน 1-2 ปี
จุดแข็งที่นักลงทุนต้องมีคือ: รู้ต้นตอ "สาเหตุของกำไร" ที่จะเกิดขึ้นอันใกล้นี้ก่อนคนอื่นและมีเวลาติดตามอย่างใกล้ชิด
ผลตอบแทน: สูงมากและสามารถทำได้ในระยะสั้น
ความเสี่ยง: การประมาณกำไรพลาด, รู้ "สาเหตุของกำไร" ช้ากว่าคนอื่น, ต้องหาตัวใหม่ๆลงทุนอยู่เสมอๆ

สายที่ 3: เน้นความปลอดภัยของเงินต้นและเงินปันผล
จุดแข็งที่นักลงทุนต้องมีคือ: การวิเคราะห์งบโดยเฉพาะงบกระแสเงินสดและความเข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจ
ผลตอบแทน: ปานกลางแต่ค่อนข้างมั่นคง
ความเสี่ยง: การวิเคราะห์ผิด, สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอาจะทำให้ความปลอดภัยที่เคยมีหายไป

สายที่ 4: เน้นศักยภาพและการเติบโตที่ยั่งยืน
จุดแข็งที่นักลงทุนต้องมีคือ: ความสามารถในการอ่าน trend และธุรกิจที่จะเติบโตในอนาคต
ผลตอบแทน: อาจจะน้อยในช่วงแรกแต่จะมากขึ้นๆตามศักยภาพของกำไรที่ถูกปลดปล่อยออกมา
ความเสี่ยง: การอ่าน trend พลาดและการซื้อหุ้นในราคาที่มี Margin of safety น้อยเกินไป

โดยสรุปก็คือ นักลงทุนควรจะต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าตัวเองเหมาะกับสไตล์การลงทุนแบบไหน โดยอาจพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่นเวลาและเครือข่ายที่มี เช่น หากเป็นนักลงทุนเต็มเวลาการเลือกแนวทางสายที่ 2 น่าจะเหมาะ เพราะสามารถมีเวลาสร้างเครือข่ายและเข้าถึงข้อมูลได้ดี ในขณะที่นักลงทุนไม่เต็มเวลาควรจะหลีกเลี่ยง

ในส่วนตัวของผมแล้ว ยังเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ เพราะเข้าตลาดมาเพียง 3 ปีกว่าๆ และยังไม่ใช่นักลงทุนเต็มเวลาที่สามารถ monitor ข้อมูลข่าวสารหรือ trend ทางธุรกิจได้ก่อนคนอื่นๆ แต่มีความรู้พื้นฐานด้านบัญชีและจบ MBA ผมจึงคิดว่าแนวทางที่เหมาะสมในการจัดพอร์ตของตัวเองน่าจะเป็น

เน้นสินทรัพย์มาก: 20% หวังผลตอบแทนเป็นก้อนใหญ่ๆในระยะยาว
เน้นกำไรก้าวกระโด 1-2 ปี: 0% ไม่มีเวลาติดตามข้อมูลเชิงลึก กลัวความเสี่ยงเพราะรู้น้อยกว่าคนอื่นๆ
เน้นความปลอดภัย: 60% สามารถวิเคราะห์งบและอัตราส่วนต่างๆได้ดี
เน้นศักยภาพอนาคต: 20% พอจะมอง mega trend ได้บ้าง แต่รอซื้อตอนตลาดตกใจ

อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่า หุ้นทุกตัวมักจะเป็นหุ้นที่มีลักษณะผสมผสานกันทั้งสี่แบบ เพียงแต่ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ที่สภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ความโดดเด่นของหุ้นแต่ละตัวนั้นจะแสดงออกมาเพียง 1 สายที่โดดเด่นจริงๆ

ในความเห็นของผมคิดว่า นักลงทุนหน้าใหม่ส่วนมาก ชอบที่จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วโดยการมองหาหุ้น "VI" โดยทึกทักเอาว่า หุ้น "VI" คือหุ้นที่นักลงทุนหุ้นคุณค่ากำลังนิยมในขณะนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ ซึ่งโดยส่วนมากหุ้นที่ได้รับความนิยม มักจะเป็นหุ้นสายที่ 2 เพราะสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าดึงดูดในขณะเดียวกัน ก็สามารถสร้างความเจ็บปวดและความเข็ด ให้กับนักลงทุนหน้าใหม่ด้วยเช่นกัน หากนักลงทุนเหล่านั้นไร้ซึ่งจุดแข็งในการเข้าถึงและมีเวลาที่จะ monitor "สาเหตุของกำไร" ได้รวดเร็วกว่าคนอื่นๆ

วันเสาร์, พฤษภาคม 29, 2553

วิถี VI ไทย - Money talk

http://www.blip.tv/file/3641215
ขอบคุณ คุณ sorawut แห่งเวป Thaivi ครับ

ดร. นิเวศน์กับความหมายของ VI
หุ้นที่ได้รับการวิเคราะห์แล้วว่าเป็นหุ้นที่มีคุณค่ามากกว่าราคาหุ้นในตลาดโดยมูลค่าคือเงินปันผลที่ได้รับหรือกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคต

วิถีชีวิต

คุณหมอบำรุง: ลาออกจากราชการมาลงทุนอย่างเดียวประมาณ 3 ปี หลังจากการทำงานมา 13 ปีตำแหน่งล่าสุดเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่บุรีรัมย์ มีครอบครัวลูกสามภรรยาหนึ่ง เริ่มลงทุนจากการที่ต้องคิดว่าเงินที่เพิ่มขึ้นจะเอาไปทำอะไรดีหลังจากเริ่มทำงาน ได้เจอประโยคที่เปลี่ยนชีวิตคือความเห็นของไอน์สไตน์ "มนุษย์ได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ขึ้นมา คือมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยผบตอบแทนระดับ 15-20% มูลค่าเงินที่เพิ่มขึ้นจะประหนึ่งดั่งนิวเคลียร์" จึงคิดอยากจะเป็นเจ้าของร้าน แต่หลังจากประชุมแฟรนไชส์แล้วพบว่าไม่ใช่วิถีของเรา เพราะต้องลงแรงเหนื่อยในการคุมร้าน บังเอิญเจอโฆษณา ปตท. ที่กำลังเข้าตลาด และโฆษณาเรื่องเงินปันผลระดับ 7% จึงเริ่มเปิดพอร์ตเพื่อซื้อ ปตท. แต่โบรคบอกว่าหุ้นเกษตรปันผลมากกว่าระดับ 10%
จึงเริ่มซื้อหุ้นเกษตรด้วยการเปิดพอร์ตระดับเงินล้านกว่าบาท โดยมีการกู้มาส่วนหนึ่ง เปิดมา 4 เดือน ขาดทุน 4 แสนกว่าบาท จึงเริ่มเข้าไปใน web Pantip และพบ link ไปที่ web Thaivi ประกอบการอ่านหนังสือตีแตก จึงเริ่มใช้หลักการในหนังสือมาหาหุ้นตาม concept ตอนนั้นปี 2546 ระหว่างนั้นก็เริ่มฝึกเรื่อยๆและมีกำไรมาเรื่อยๆ มีความมุมานะมากขึ้น สามารถวิเคราะห์หุ้นจากครึ่งหน้าเป็นเจ็ดถึงแปดหน้า จนแม้กระทั่งติดเข้าไปในความฝัน ใช้เวลาในการวิเคราะห์นานมากในหุ้นแต่ละตัวตามทฤษฎีของวอร์เรน, ปีเตอร์ ลินซ์ จนกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนลาออกจากงานก็คืนเงินกู้รวมทั้งเงินที่ยืมคุณยายและพี่สาวมาลงทุน
ลาออกจากงานเพราะรู้สึกอิ่มกับการทำงานมา 13 ปี ปัจจุบันชีวิตประจำวันคือการส่งลูกไปเรียน, ชอปปิ้งบ้างออกกำลังกายบ้าง นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นวิศวะ

คุณมนตรี: ตอนนี้ทำงานพิเศษคือที่ปรึกษาให้ธนาคารเกียรตินาคิน เป็นที่ปรึกษาการลงทุนและเป็นนักลงทุน เรียนจบวิศวกรในช่วงที่เศรษฐกิจดีมาก ทำงานมาหนึ่งปีก็ได้ย้ายไปทำงานกับบริษัทที่อยู่ในตลาด (index ประมาณ 1400 - 1500) ได้หุ้นจากการเป็นพนักงานเริ่มซื้อขายหุ้นตามโบรกที่แนะนำ เงินลงทุนประมาณสองแสนกว่า จน index ลงมา จึงขายไปประมาณครึ่งพอร์ตแล้วทิ้งไปพักใหญ่ กลับมาตอนหลังปี 40 index ประมาณสองร้อยกว่าๆ ตอนนั้นเริ่มเปลี่ยนสายงานเป็น sales ซึ่งเป็นบริษัทในตลาด ด้วยอาชีพทำให้รู้จักบริษัทในตลาดค่อนข้างมาก ตอนนั้นเริ่มลงทุนแนว VI จากการที่มีน้องที่ทำงานให้หนังสือ warren buffet eassay ซึงตอนนั้นยังไม่รู้จักว่าวอร์เรนคือใคร จากนั้นตามมาด้วยหนังสือตีแตก จึงประทับใจในตรรกะของการลงทุนแนว VI เริ่มลงทุนด้วยเงินประมาณสามแสน index ประมาณสามร้อยกว่าจุด จนกระทั่งขึ้นมาถึงระดับ 600 - 800 จุด จึงเริ่มตั้งตัวได้และออกจากงาน และเริ่มก่อตั้งเว็บ Thaivi เพราะอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักลงทุนแนว VI กับเพื่อนๆประมาณ 4-5 คน
ตอนนี้ลงทุนในไทย 20% และต่างประเทศ 20% และลงทุนในทองคำและถือเงินสด ตอนนี้เริ่มเหงาจึงหางานพิเศษทำ

คุณฉัตรชัย: จบตรีวิศวะ โท MBA ก่อนออกมาลงทุนทำงานล่าสุดด้านสินเชื่อธนาคาร ทำงานมา 11 ปี เริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 33 สนใจเรื่องธุรกิจและได้อ่าน นสพ กรุงเทพธุรกิจที่เป็นการแปลบทความของปีเตอร์ ลินซ์ โดยเริ่มซื้อหุ้นทันทีหลังจากจบ โดยซื้อตอนดัชนีระดับ 1400 โดยซื้อหุ้นตัวแรกที่ราคา 118 และ cut loss ที่ราคา 18 บาท โดยซื้อเพราะบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่ใหญ่โต และหลังจากนั้นพบว่าความรู้ยังน้อยในเชิงธุรกิจ จึงศึกษา MBA ต่อ ทำให้รู้ในเรื่องธุรกิจมากขึ้นประกอบกับงานที่ทำคืองานสินเชื่อ โดยตอนนั้นได้ขายล้างพอร์ตไปก่อนที่จะเกิดวิกฤตเพราะเริ่มเห็นสัญญาณจากการทำงานที่ธนาคาร โดยกลับมาลงทุนอีกครั้งช่วงดัชนีประมาณสองร้อยกว่าๆ เพราะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปรับลงมามากแล้ว ซึ่งตอนนั้น ก็เริ่มลงทุนแนว VI แล้วในพอร์ตหลักแสน โดยลาออกจากงานประจำมาตั้งแต่ปี 44

ดร. นิเวศน์: จบวิศวะจุฬา MBA นิด้าและทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับหลักทรัพย์ เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุสิบขวบ เพราะทางบ้านจน เริ่มต้นจากการซื้อหมากฝรั่งมาขาย, เพราะเห็ดฟาง, เก็บเศษสายไฟขาย จบออกมาทำงานวิศวะจนเป็นหัวหน้าวิศวกรที่ต่างจังหวัด เรียน MBA และไปต่อเอกการเงินที่ต่างประเทศและกลับมาทำงานด้านการเงิน เป็นนักวางแผนการเงินและจากนั้นย้ายไปทำงานบริษัทหลักทรัพย์ ทำงานฝ่ายวาณิชย์ธนกิจ ลงทุนหุ้นแบบซื้อมาขายไปแบบสเปะสปะ เริ่มรู้จัก VI จากการจัดตั้งแผนกที่นำเงินมาลงทุน ซึ่งต้องมีแผนกวิเคราะห์ จึงเริ่มมีการ form idea ในการลงทุน แต่ช่วงนั้นก็ยังไม่เป็นแนว VI เพราะหุ้นตอนนั้นค่อนข้างแพงเพราะดัชนีสูงแล้ว พอถึงจุดหนึ่ง จึงคิดว่าการวิเคราะห์หุ้นคือแนวทางที่ดี ต่อมาดัชนีลงมาจากระดับพันกว่าเหลือเจ็ดถึงแปดร้อยจุด จนกระทั่งบริษัทหลักทรัพย์ถูกปิด เริ่มใช้แนว VI ปี 38-39 จนปี 40 เกิดวิกฤติราคาหุ้นก็ยังไม่กระทบมาก โดยมีเงินเก็บประมาณ 10 ล้าน ซึ่งตอนนั้นตกงาน ไม่มีทางเลือก จึงเริ่มลงทุน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการซื้อขายน้อยมากแต่ก็ได้งานที่ปรึกษาและเก็บเงินจากเงินเดือนมาตลอดจนกระทั่งออกจากงาน ชีวิตประจำวันคือ ส่งลูก, ออกไปตีกอล์ฟ ตอนเย็นก็ออกไปจ็อกกิ้ง เขียนบทความ, สอนหนังสือ

วิธีลงทุนโดนสรุป

คุณมนตรี: วิธีเดิมๆ คือดูกิจการเป็นหลัก ดูกิจการที่มีการเติบโตมีกำไร มีผู้บริหารที่ดี รอซื้อที่ราคาที่เหมาะสม ตอนนี้ซื้อหุ้นไทย 30% กองทุนต่างประเทศ (โดยเลือก บล. ที่ลงทุนตาม concept เดียวกับเรา) ประมาณ 50% และอีก 20% เป็นกองทุนทองคำและเงินสด ซึ่งจะมีการปรับระดับ % ของหุ้นตามสถานการณ์

คุณบำรุง: ตอนนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 130% ลงทุนในหุ้นตัว 2-3 ตัว ตัวรอง 7-8 ตัว มีหลักเกณฑ์ในการเลือกหุ้นโดยการมองอนาคตว่ากลุ่มอุตสาหกรรมไหนที่กำลังจะมาในอนาคต จากนั้นจึงค่อยดูบริษัทในกลุ่มนั้นๆและดูกิจการว่ามีกระแสเงินสดเข้ามาเท่าไหร่ แฟร์แวลูอยู่ที่ไหน โดยไม่มีระยะเวลาที่จำกัด โดยขึ้นอยู่กับว่าราคาหุ้นได้มาถึงแฟร์แวลูหรือยัง การใช้มาร์จินนั้นมีต้นทุนประมาณ 6-7% ต่อปี ถ้าเรามั่นใจว่าจะได้ผลตอบแทนมากกว่านั้น จึงใช้

คุณฉัตรชัย: เลือกหุ้นที่เราอยากเป็นเจ้าของกิจการ มีกระแสเงินสดสุทธิที่ดี ผู้บริหารเชื่อถือได้ เคยถือหุ้นตัวเดียวมา 5-6 ปี ที่กล้าเพราะว่าเรามั่นใจ และไม่จำเป็นที่จะขายทิ้ง เพราะราคายังไม่ over value และหากจะเปลี่ยนก็ต้องเพราะเราวิเคราะห์ผิดหรือราคาเกินหรือมีหุ้นตัวอื่นที่น่าสนใจมากกว่า สาเหตุที่สนใจการวิเคราะห์งบเพราะงบเป็นตัวสะท้อนความเป็นไปของกิจการและพฤติกรรมผู้บริหาร

ดร. นิเวศน์: เลือกหุ้น wonderful business with reasonable price คือธุรกิจที่มีการเติบโตมีกระแสเงินสดมากมีการเติบโตระยะยาว 3-5 ปีอย่างแน่นอน ไม่ได้เลือกหุ้นแบบ top down หรือ bottom up แต่เป็นการมองแบบรู้ได้ทันทีว่าหุ้นนั้นเป็นหุ้นที่โดดเด่น มีผู้บริหารที่วางใจได้มีการจ่ายปันผลที่สมเหตุสมผล แล้วรอให้ราคาถึงที่ที่เราคาดหวัง ถ้าไม่ถึงไม่ซื้อ แต่บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเลือกตัวที่ดีที่สุด หากราคาอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำกว่าราคาที่คาดหวัง

วันอังคาร, พฤษภาคม 25, 2553

วิวัฒนาการทางการลงทุนของ VI มือใหม่

วันนี้ลองเอาหนังสือวาทะของวอร์เรนมานั่งอ่าน ระหว่างนั่งรถเมล์เดินทางไปทำงาน
ระหว่างอ่านไปก็สงสัยว่า ไอ้ประโยคเดิมๆนี้ เราก็เคยได้อ่าน ได้เห็นมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกๆครั้งทำไมเรารู้สึกไม่เหมือนเดิม เหมือนกับมีภาพอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนไป ทำให้กลับมาทบทวนและคิดว่าอะไรคือสิ่งที่เราเปลี่ยนไปจากวันที่เริ่มต้นลงทุน

ผมเชื่อว่านักลงทุนหลายๆท่านมีต้นกำเนิดหลักๆอยู่สองสายพันธุ์ หากจะเปรียบตามหลักของหนังจีนกำลังภายในคือ

สายที่ 1: แนวลมปราณและ
สายที่ 2: แนวกระบี่

แนว VI สายลมปราณมักจะเป็นเด็กสายวิทย์ที่สนใจการลงทุน โดยเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือและศึกษา ratio ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ROE, ROA, Net Margin, P/E, P/B หรืออะไรต่างๆก็แล้วแต่
ขณะที่แนว VI สายกระบี่ มักสนใจและติดตามเซียน, หุ้นเด็ดตามเว็บหรือข่าวสารต่างๆที่จะส่งผลที่ดีต่อกำไรของกิจการ (แตกต่างจากการเก็งกำไรตรงที่ ไม่ได้สนใจกราฟหรือดัชนีมากนัก แต่สนใจเหตุการณ์หรือข่าวสารเรื่องราวดีๆของหุ้นมากกว่า)

โดยทั้งสองสายมีลักษณะคล้ายๆกันคือ ต้องการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว... หมายความถึงภายในไม่เกิน 1 ปี

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่านี่คือธรรมชาติที่นักลงทุนหน้าใหม่มักจะต้องจ่ายค่าครู โดยหารู้ไม่ว่าการเริ่มต้นลงทุนทั้งสองแบบดังกล่าวนั้นมีจุดอ่อนที่ VI ขั้นเทพทั้งหลายมีอยู่แต่พวกเขาไม่มีคือ

1) ความรู้และความเข้าใจในธุรกิจหรือหุ้นตัวนั้นๆ
2) สติ, ความอดทน, การประเมินมูลค่าว่ามูลค่าว่าราคาไหนควรซื้อ, ถือ หรือขายทำกำไร

ในส่วนของความรู้ความเข้าใจในธุรกิจนั้น เราสามารถทดสอบตัวเองได้ง่ายๆกับคำถามเหล่านี้ว่า เราสามารถตอบได้หรือไม่
1) กิจการนั้นมีรายได้หลักจากอะไร
2) กิจการนั้นมีต้นทุนหลักจากอะไร
3) กิจการนั้นมีคู่แข่งและลูกค้าคือใคร
4) กิจการนั้นมีการเติบโตของยอดขายในอดีตเป็นอย่างไร เพราะอะไร
5) อะไรคือความเสี่ยงที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อกำไรของกิจการในอนาคต
6) อะไรคือโอกาสที่สำคัญของกิจการที่จะมีรายได้และกำไรที่เติบโต
7) ผู้บริหารมีความซื่อสัตย์หรือไม่ หรือมีประวัติที่ไม่ดีอย่างไร
8) แนวโน้มของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของกิจการเป็นอย่างไร เพราะอะไร
9) กิจการต้องการการลงทุนในระดับเท่าไหร่เพื่อที่จะรักษาสถานะของบริษัทในตลาด

โดยรวมๆก็คือความเข้าใจว่ากิจการนั้นหากินอย่างไร

ในส่วนที่สองคือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ โดยหลักๆคือความโลภและความกลัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาช่วย ประกอบกับความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งของกิจการและเทคนิคการหามูลค่า รวมไปถึงการเผื่อส่วนต่างตวามปลอดภัยและความเข้าใจในอารมณ์ของ Mr. Market

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือความคิดเห็นของผมจากประสบการณ์ตรงและจากการอ่านบทความหรือหนังสือหลายๆเล่ม ในการที่จะพยายามอธิบายว่า นักลงทุน VI มือใหม่ทำไมถึงต้องจ่ายค่าครูในช่วงแรกๆ

หลังจากที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในระดับหนึ่ง ผมเชื่อว่าวิวัฒนาการขั้นต่อไปของ VI คือการสร้างขอบเขตความรู้ของตัวเอง นั่นคือการพยายามละสายตาจากราคาหุ้นหรือข้อมูลตามกระทู้ แต่เน้นไปที่การศึกษาว่าธุรกิจประเภทใดที่เราสนใจและคิดว่าสามารถทำความเข้าใจได้ จากนั้นจึงนำไปสู่การอ่านและศึกษาข้อมูลของหุ้นอย่างน้อย 4-5 ตัวเพื่อให้เห็นภาพและความเป็นไป ว่าหุ้นแต่ละตัวมีวิธีการหากินอย่างไร จากนั้นจึงเริ่มที่จะประมาณมูลค่าหุ้นโดยหาความรู้เพิ่มเติม

ลำดับต่อไป นักลงทุนจึงควรสร้างโฟลเดอร์ในการเก็บหุ้นที่เราวิเคราะห์รวมถึง template หรือ model ที่เราใช้ประมาณการมูลค่าหุ้น และทำการ update ข้อมูลงบการเงินต่างๆรวมไปถึงข่าวสารต่างๆ แล้วจึงค่อยพิจารณาราคาตลาด เปรียบเทียบกับราคาในใจของเรา (ที่คิดส่วนเผื่อไว้แล้ว)

วันอาทิตย์, พฤษภาคม 23, 2553

ลงทุนแบบวอร์เรนบัฟเฟตต์ - Money talk

http://www.blip.tv/file/3641809
ขอบคุณ คุณ sorawut แห่งเวป Thaivi ครับ

ขออนุญาตสรุปเนื้อหาแบบ hard core ที่เกี่ยวข้องกับหลักการงทุนหุ้นคุณค่านะครับ ฉบับเต็มสามารถฟังได้ตามลิงค์ด้านบนเลยครับ

วอร์เรน บัฟเฟตต์คือใครโดย ดร. นิเวศน์

อายุโดยประมาณราวๆ 80 ปี ในความคิดอาจารย์ คิดว่า วอร์เรน คือคนที่พระเจ้าสร้างมาเป็นตำนานแห่งการลงทุน เนื่องจากปัจจัยที่เกื้อหนุนหลายๆอย่างคือ

1) ชอบลงทุน ตั้งแต่เด็กชอบซื้อของมากขายต่อ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมหรือโพยม้า ทั้งที่ฐานะทางบ้านไม่ได้จนอะไร เพราะพ่อเป็นถึง สส. ของอเมริกา
2) มีความรู้ที่ถูกต้องในการลงทุน โดยที่มีอาจารย์คือ เบนจามิน เกรแฮม บิดาแห่ง value investment โดยวอ์เรนเป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนมาก ถึงขนาดเกรแฮมถือว่าเป็นนักศึกษาที่ได้เกรด A+ คือได้เกรด A แบบเต็มร้อย
3) มีเวลาในการลงทุนมาก ตั้งแต่อายุ 11 ปี แต่ลงทุนจริงๆจังๆตอนเรียนจบ ถ้านับประสบการณ์ ก็ได้ประมาณห้าสิบกว่าปี สำหรับนักลงทุนแล้ว เวลาเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของนักลงทุน เพราะพลังแห่งผลตอบแทนทบต้น
4) เข้าตลาดในจังหวะที่อเมริกากำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และมีการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยวอร์เรนเริ่มลงทุนในบริษัทที่ขณะนั้นยังมีขนาดเล็กอยู่ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆตามเศรษฐกิจ
แต่ปัจจัยเดียวที่วอร์เรนยังไม่มีคือจำนวนเงินลงทุนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก


คัมภีร์เล่มแรกที่สอนวอร์เรน บัฟเฟตต์ โดย คุณพรชัย
หนังสือ The Intelligence Investor ของเบนจามิน เกรแฮม เปรียบเสมือนตำราเล่มแรกที่ทำให้วอร์เรน รู้สึกเหมือนกับว่าได้เปิดหูเปิดตาสู่การลงทุนที่เฝ้ารอ หลังจากศึกษาตำราอื่นๆมานาน โดยเด็กหนุ่มวอร์เรนในขณะนั้นอายุเพียง 19 ปี

หลักการลงทุนแบบวอร์เรน โดย ดร.กุษยา
สรุปแบบสั้นๆคือ
1) ให้รู้จักในสิ่งที่คุณลงทุนให้ดีที่สุด อะไรที่เราไม่เข้าใจ อย่าไปยุ่งกับมัน
2) อ่านให้มากๆ ก่อนที่จะลงทุน ไม่มีวิธีที่เป็นทางลัด อ่านแล้วคิดให้เป็นตัวของตัวเอง
3) ถ้าคุณไม่คิดที่จะถือหุ้นนั้นไปสิบปี แม้ สิบนาทีก็อย่าซื้อ ก็คือให้ซื้อแบบลงทุระยะยาว
4) ลงทุนซื้อหุ้น คือการลงทุนในกิจการ เสมือนการเป็นหุ้นส่วน ต้องดูผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์

การปรับใช้หลักคิดของวอร์เรนในการลงทุนในชีวิตจริงของคุณพรชัย
หลักการลงทุนของวอร์เรนต์แบ่งออกเป็นสองส่วน
1) ทัศนคติต่อการลงทุน: เวลาซื้อหุ้น ให้รู้ว่าเรากำลังซื้อธุรกิจ อย่าหวั่นไหวไปกับราคาหุ้น
2) การวิเคราะห์บริษัท: ลงทุนในธุรกิจที่เราเข้าใจ เข้าใจในที่นี้คือ การเข้าใจว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้านี้ บริษัทจะยังเป็นที่หนึ่งในตลาดอีกหรือไม่ และเลือกบริษัทที่มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เพราะวอร์เรนมองช่วงการลงทุนในระดับ 10-20 ปี
เช่น ปี 1988 การลงทุนในบริษัทโค้ก ในณะนั้น ซึ่งเทียบได้กับ 30% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์เลยทีเดียว
ปล. บริษัทเบิร์กไชร์ เกิดจากการที่วอร์เรนซื้อหุ้นโดยกรองหุ้นที่มีลักษณะเป็น Net Net คือมีสินทรัพย์หมุนเวียนลบหนี้สินหมุนเวียนที่ 19 USD ต่อหุ้นแต่ราคาขณะนั้นคือ 7 USD เขาจึงทำการสะสมหุ้นเรื่อยๆจนกระทั่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในที่สุด

ตัวอย่างการลงทุนที่ประสบความสำเร็จของวอร์เรนที่ประสบความสำเร็จ
ดร.กุษยา: การลงทุนในบริษัทไจโก้ (GEIGO) บริษัทประกันที่วอร์เรนลงทุนทำให้มีเงินทุนที่เป็นแหล่งสนับสนุนเนื่องจากธรรมชาติของธุรกิจ
คุณพรชัย: การลงทุนในโค้ก ที่ขณะนั้นมี PE 15 เท่า โดย 10 ปีหลังจากนั้น ได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยประมาณ 28%
ดร. นิเวศน์: การลงทุนในบริษัทอเมริกันเอกซ์เพรส ซึ่งวอร์เรนเคยถือถึง 50% ของพอร์ต เกิดเหตุการณ์สำคัญในขณะนั้นคือเกิดเรื่องฉาวโฉ่ในบริษัท ซึ่งขณะนั้นให้บริการบัตรเครดิตที่เป็นที่รู้จักอย่างทั่วโลก แต่เรื่องฉาวโฉ่นั้นเกิดจากคนใน เกี่ยวกับเรื่องน้ำมันสลัด ซึ่งทำให้เกิดค่าเสียหายมาก ทำให้หุ้นตกอย่างรุนแรง แต่วอร์เรนยังมองว่าตัวธุรกิจหลักยังคงไปได้ดี ทำให้วอร์เรนต์ทุ่มซื้ออย่างมาก
ทำให้เกิดข้อคิด classic ของวอร์เรนในเรื่องของการซื้อธุรกิจที่แข็งแกร่ง แต่เกิดวิกฤติเพียงชั่วคราวที่ไม่กระทบกับธุรกิจหลัก

ตัวอย่างการลงทุนที่ล้มเหลว
ดร.กุษยา:การลงทุนในบริษัทเบิร์กไชร์ ซึ่งซื้อแล้ว แต่บริษัทกลับต้องปิดและเปลี่ยนเป็น holding company อย่างในปัจจุบัน
คุณพรชัย: ซื้อแล้วขาดทุน --> ช่วงแรกดูจาก ratio แต่ไม่ได้ดูผู้บริหาร เช่น ห้างสรรพสินค้า (น่าจะเซียร์)
ควรซื้อแต่ไม่ซื้อ --> รู้ว่าธุรกิจน่าจะดีแต่ซื้อเพียงเล็กน้อย ไม่ซื้อต่อ เช่น หุ้น Wall mart
ดร.นิเวศน์: การลงทุนในหุ้นการบิน ซึ่งโดยธรรมชาติมีการแข่งขันที่สูง


หลักการของวอร์เรนกับการลงทุนในเมืองไทย

คุณพรชัย: คิดว่าใช้ได้ในเมืองไทย แต่สิ่งที่ลำบากคือการหาบริษัทที่เรามั่นใจว่าจะมีการเติบโตในระยะ 10-20 ปี อาจจะหาได้ยาก
ดร.นิเวศน์: มองว่าหลักการลงทุนไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งวอร์เรนเปลี่ยนแนวจากการลงทุนแบบสเปะสปะ ซื้อถูกขายแพงแต่หลังๆ เปลี่ยนเป็นการลงทุนในการซื้อหุ้นที่ดีมากๆแล้วเก็บไว้ อาจด้วยประสบการณ์, อายุและขนาดพอร์ต
ดร.กุษยา: หลักใหญ่ๆที่เอามาใช้น่าจะทำได้หมด แต่เอามาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การทำความเข้าใจกับบริษัทที่จะลงทุนให้มากๆ แต่มีข้อระวังในส่วนของความถูกต้องของข้อมูล การพิจารณาแยกแยะระหว่างความเห็นกับความจริง และอาจจะต้องระวังในแง่ของจิตวิทยาในการลงทุน
ดร.นิเวศน์: ให้เอาหลักการมาใช้ โดยหามุมมองที่สำคัญ ที่ทำให้หุ้นแตกต่างและโดดเด่นชัดเจน ตัวอย่างเช่น หุ้นรถไฟ ซึ่งดูเป็นหุ้นที่หมดยุค แต่วันดีคืนดี (เร็วๆนี้) วอร์เรนกลับลงทุนในระดับที่สูงมาก โดยมีมุมมองใหม่คือ ราคาน้ำมัน ที่ไม่น่าจะถูกอีกต่อไป ทำให้ค่าขนส่งสูงมาก ซึ่งคนที่จะได้เปรียบก็คือ เรือกับรถไฟ แต่เรือค่อนข้างมีคู่แข่งและข้อจำกัดอยู่มาก ซึ่งในอนาคต คนน่าจะหันมาใช้รถไฟในการขนส่งแทน (ประกอบกับบริษัทมีที่ดินอยู่มาก)ดังนั้น การซื้อหุ้นทุกตัว จึงควรซื้อโดยซื้อหุ้นที่มีมุมมองที่เฉียบคม มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่ราคาถูกแล้วเข้าซื้อ ... ถ้ายังไม่มีมุมมองที่เฉียบคม ก็อย่าเพิ่งไปซื้อ...
ดร.กุษยา: เสริมเรื่องของมุมมองที่เฉียบคมว่า เกิดจากความเข้าใจในธุรกิจที่ทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะเป็นวอร์ชิงตันโพสต์, โค้ก โดยวอร์เรนจะซื้อหุ้นในขณะที่ยังไม่เป็นที่สนใจ
คุณพรชัย: เสริมเรื่องความเฉียบคมว่า แค่ความเข้าใจอาจจะไม่พอ โดยตอนที่วอร์เรนซื้อ โค้กเริ่มมีการ focus ที่ตัวธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่มีการลงทุนกระจายไปยังธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกลับเป็นการเน้นไปที่การเพิ่มยอดขายกระจายไปยังต่างประเทศ โดยวอร์เรนไม่ได้ดูเพียงแค่ PE ที่ดูเหมือนสูง แต่หากเมื่อดูอัตราการดื่มโค้กที่ยังมีโอกาสอีกมากในเอเชีย เช่น ในเมืองจีนบริโภคโค้กแค่ 0.3 ขวดต่อปีเท่านั้น ซ฿งเป็นมุมมองที่ตลาดยังไม่รับรู้

ความสนใจของหุ้นในโลกยุคใหม่
ดร.นิเวศน์: วอร์เรนไม่ซื้อหุ้นในโลกยุคใหม่ เช่น ในยุคดอทคอม เนื่องจากเพราะเค้าไม่แน่ใจว่าอนาคตในอีก 10-20 ปีเป็นอย่างไร

หากคนอายุมากๆแล้ว การมองยาวขนาดนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร
คุณพรชัย: อาจจะไม่ได้กำหนดตายตัวว่าเป็น 10-20 ปี เพียงแต่ในขณะที่ซื้อนั้น เรามองอนาคตระยะยาวหรือไม่

การลงทุนใน TFEX วอร์เรน สนใจหรือไม่
คุณพรชัย: ไม่เคยพบ แต่หากจะมี วอร์เรนก็จะลงทุนในปริมาณไม่มาก หรือกรณีชอบใจผู้บริหาร ก็อาจจะซื้อติดไว้ แต่ไม่มาก

วอร์เรนเล่นมาร์จินหรือไม่
ดร.กุษยา: วอร์เรนจะซื้อด้วยเงินสดเท่านั้น ไม่มีการกู้เงินมาซื้อหุ้น

วอร์เรนมีความสุขหรือไม่
คุณพรชัย: คิดว่ามีความสุข เพราะจะทำอะไรก็ได้ทำ แต่วอร์เรนไม่ค่อยอยากจะทำอะไรมาก
ดร.นิเวศน์: มีความสุข เพราะวอร์เรนสามารถอยู่บ้านเล่นบริดจ์อยู่กับบ้านได้
ดร.กุษยา: วอร์เรนไม่ได้กังวลเรื่องว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะตก

คนอเมริกามองวอร์เรนอย่างไร
คุณพรชัย: ยกตัวอย่างครั้งหนึ่งเคยขอวีซ่าไปอเมริกา ปีแรกไม่ผ่าน แต่ปีสองพอโชว์ใบหุ้นของเบิรก์ไชร์ เจ้าหน้าที่กงสุลก็ออกวีซ่าให้ทันที

วันศุกร์, พฤษภาคม 21, 2553

สุดยอดแห่งบทความจากมือหนึ่ง value investor

เป็นบทความที่ประทับใจ อ่านทีไรก็ไม่เบื่อครับ เป็นเหมือนกับหลักธรรมชาติ ที่เป็นสัจธรรม ที่เป็นจริงเสมอโดยไม่ขึ้นกับกาลเวลา

จากบทความ โลกในมุมมองของ Value Investor 19 กันยายน 2552
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Value Investment คืออะไร? นั่นเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ คำตอบที่ได้รับนั้นมักจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับ “Value Investor” แต่ละคน ส่วนใหญ่แล้วคำตอบนั้นมักจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิด “แบบ VI” ผมคิดว่าไม่มีคำตอบไหนที่จะอธิบายความหมายของ VI ได้อย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าแท้ที่จริงแล้ว VI นั้นเป็น “ปรัชญา” ที่อาจจะมีพื้นฐานจากแนวความคิดของ เบน เกรแฮม แต่หลังจากนั้นก็มีนักคิดและนักปฏิบัติคนอื่นที่ช่วยกันเสนอแนวความคิดเพิ่มเติมหลากหลาย บางเรื่องก็แย้งกับแนวทางเดิมก็มี อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วก็พอจะบอกได้ว่าแนวทางแบบใดเป็นแบบ VI และแนวไหนไม่ใช่ และต่อไปนี้ก็คือความพยายามของผมที่จะรวบรวมแนวความคิดหลัก ๆ ของ VI ที่จะช่วยให้คนที่ยังสับสนว่าอะไรคือ VI และการลงทุนแบบ VI นั้นทำอย่างไร ผมอยากเรียกมันว่า “ทฤษฎี VI”

ทฤษฎี VI ของผมจะเริ่มจาก “โครงร่าง” ที่จะครอบคลุมประเด็นหลัก ๆ ของ VI ดังต่อไปนี้คือ

ข้อแรก VI มองการลงทุนในหุ้นว่าคือการลงทุนในธุรกิจ พูดง่าย ๆ ซื้อหุ้นก็คือซื้อธุรกิจหรือถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ก็คือ ซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ใช่ซื้อกระดาษใบหนึ่งที่มีราคาขึ้นลงได้ ดังนั้น การวิเคราะห์หุ้นก็คือการวิเคราะห์ว่าธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร

ข้อสอง ต้องหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ซึ่งก็คือการหามูลค่าของธุรกิจ นี่คือมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการที่ธุรกิจสามารถสร้างกระแสเงินสดให้เราได้ ไม่ใช่มูลค่าที่มีคนมาเสนอซื้อจากเรา

ข้อสาม ซื้อหรือขายหุ้นเมื่อมีส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงกับราคาหุ้นในตลาด โดยที่ส่วนต่างนั้นมีมากพอ หรือเรียกว่ามี Margin Of Safety

ข้อสี่ VI นั้นจะต้องมี EQ หรืออารมณ์ที่มั่นคง ไม่ถูกชักนำโดยจิตวิทยาสังคมหรือสภาวะของตลาดหลักทรัพย์

ข้อห้า ต้องควบคุมความเสี่ยง หรือเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม

สุดท้ายก็คือ ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในมุมมองของ VI

ข้อแรกในเรื่องของธุรกิจนั้น VI จะพยายามแยกหุ้นออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้รู้ว่าคุณสมบัติทางธุรกิจของหุ้นนั้นเป็นอย่างไร การแยกแยะนั้นจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตของกิจการได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น

การแบ่งกลุ่มของหุ้นที่ค่อนข้างกว้างก็คือแนวที่บัฟเฟตต์เรียกว่า กลุ่มหุ้น “ก้นบุหรี่” กับกลุ่มหุ้น “Super Company” โดยที่หุ้นก้นบุหรี่ก็คือหุ้นของบริษัทที่ไม่มีความสามารถโดดเด่นในการแข่งขัน ซึ่งทำให้ราคาของหุ้นอาจจะถูกมากจนอาจทำให้คุ้มค่าที่จะซื้อ ในขณะที่หุ้น Super Company นั้นเป็นหุ้นของกิจการที่มีความแข็งแกร่งมากและมี “ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน” ซึ่งทำให้บริษัทสามารถทำกำไรดีกว่าปกติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน หุ้นแบบหลังนี้ ถ้าเราสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม มันก็จะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีได้เป็นเวลานาน

VI ชื่อดังอย่าง ปีเตอร์ ลินช์ เองได้เสนอการแบ่งกลุ่มบริษัทให้ละเอียดขึ้นเพื่อให้สามารถวิเคราะห์กิจการได้แม่นยำขึ้น เขาแบ่งกิจการออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแรก หุ้นโตช้า ซึ่งเขาบอกว่าไม่น่าสนใจลงทุน นี่น่าจะเป็นกลุ่มที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ตะวันตกดิน” กลุ่มสอง หุ้นแข็งแกร่ง นี่คือหุ้นของกิจการขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง เป็นหุ้นที่นักลงทุนเรียกว่าเป็น หุ้น “Blue Chip” หุ้นเหล่านี้จะโตไม่มากแล้ว คนลงทุนควรจะเน้นว่ามันจ่ายปันผลในอัตราที่ดีจึงจะน่าสนใจที่จะซื้อลงทุน กลุ่มที่สาม คือหุ้นโตเร็ว นี่คือหุ้นที่มักจะมีขนาดเล็กลงมาแต่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นกิจการที่ยังมีความเสี่ยงและอาจจะไม่เข้มแข็งมาก แต่การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้โดยรวมมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีเพราะราคาหุ้นจะปรับตัวไปสูงมากและเป็นเวลานาน กลุ่มที่สี่ คือหุ้นวัฏจักร นี่คือกิจการที่มีผลประกอบการขึ้นและลงเป็นรอบ ๆ ที่ถ้าเราเข้าใจก็สามารถลงทุนซื้อและขายหุ้นในช่วงเวลาที่ถูกต้องได้ กลุ่มที่ห้า คือกลุ่มหุ้นฟื้นตัว นี่คือหุ้นของกิจการที่ประสบปัญหาหนักแต่กำลังฟื้นตัวหรือจะฟื้นตัวได้เนื่องจากเหตุผลบางประการเช่นบริษัทมีเงินสดมาก การซื้อหุ้นแบบนี้ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากเมื่อกิจการฟื้นตัวแล้ว สุดท้าย หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมาก นี่คือหุ้นของกิจการที่มีทรัพย์สินมากกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทและทรัพย์สินนั้นมีค่าจริง การลงทุนในหุ้นมีทรัพย์สินมากมักจะมีความปลอดภัยสูง

การแบ่งกลุ่มบริษัทนั้น สำหรับ VI คงไม่มีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าเขาเข้าใจธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นข้อถกเถียงมากว่าเป็นแนวของ VI หรือไม่ก็คือในกรณีของ บิล มิลเลอร์ ซึ่งประกาศตัวว่าเป็น VI คนหนึ่ง แต่เขาลงทุนในหุ้นกลุ่มไฮเท็คมากและประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้ง ๆ ที่หุ้นไฮเท็คนั้น สำหรับ VI ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นหุ้นในกลุ่มของ Growth Investor ซึ่งไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องของราคาถูกแพงของหุ้นซึ่งขัดกับแนวความคิดหลักของ VI ที่เน้นว่าต้องซื้อเฉพาะหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐานเสมอ อย่างไรก็ตาม บิล มิลเลอร์ เถียงว่า หุ้นที่เขาลงทุนนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้แพงเลยเมื่อมองถึงกระแสเงินสดในอนาคตที่กิจการเหล่านั้นจะทำได้ในอนาคตที่อาจจะไกลออกไปหน่อยแต่ก็เป็นกระแสเงินสดที่มากและน่าจะคาดการณ์ได้เมื่อคำนึงถึงธรรมชาติของธุรกิจของหุ้นไฮเท็คที่เขาซื้อเหล่านั้น

หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์กิจการนั้น นอกจากการที่ต้องพยายามจัดกลุ่มแล้ว เราต้องเข้าใจว่าบริษัทนั้น “หากิน” อย่างไร อะไรเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลประกอบการของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาวและปัจจัยเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วและมากน้อยแค่ไหน การเข้าใจตัวธุรกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญมากของการลงทุนแบบ VI และก่อนที่จะลงทุนนั้น นักลงทุนจะต้องสามารถบอกเล่าเรื่องราวสั้น ๆ ที่ครอบคลุมหัวใจสำคัญของการดำเนินงานของธุรกิจหรือ “Story” ว่าทำไมหุ้นตัวนั้นถึง “น่าลงทุน”


ทฤษฎี VI(2)
1
โลกในมุมมองของ Value Investor 29 กันยายน 52
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการหรือที่ภาษานักวิชาการเรียกว่า Intrinsic Value นั้น สำหรับ VI แล้ว มันน่าจะเป็นช่วงมากกว่าเป็นตัวเลขที่แน่นอนเพียงตัวเดียว หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือ เราไม่พูดว่ามันควรมีค่ากี่บาทถึงกี่บาท แต่เรามักพูดว่ามันถูกหรือถูกมาก หรือมันแพงหรือแพงมาก การวัดความถูกความแพงของหุ้นนั้น ข้อมูลที่ VI นิยมใช้มากที่สุดน่าจะรวมถึงค่า PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรของกิจการ ค่า PB หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของหุ้น ค่า DP หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือที่เรียกว่า Dividend Yield และสุดท้ายก็คือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดของกิจการหรือค่า Market Cap. นอกจากนั้น VI บางคนก็ยังใช้ค่า PEG ซึ่งก็คือค่า PE หารด้วยอัตราการเจริญเติบโตของกำไรของบริษัทด้วย
หุ้นที่ถูกสำหรับ VI ก็คือหุ้นที่มีค่า PE หรือค่า PB ต่ำกว่าค่า PE หรือค่า PB เฉลี่ยของตลาดหรือมีค่า DP สูงกว่าค่า DPเฉลี่ยของตลาด VI ส่วนใหญ่มักจะดูค่า PE เป็นตัวหลักและดูค่า PB และDP เป็นตัวประกอบ ประเด็นสำคัญก็คือ ค่า E หรือกำไรนั้น จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อกิจการมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการเท่านั้น ส่วนบริษัทที่มีกำไรที่ไม่สม่ำเสมอนั้น จะต้องใช้กำไรเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา หรือใช้กำไรในปีที่ต่ำที่สุดในช่วง 3-4 ปีมาแทนกำไรในปีปัจจุบัน และในเกือบทุกกรณี ค่าของ Market Cap. จะเป็นตัวที่ใช้ตรวจสอบว่ามูลค่าตลาดของกิจการนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องมองดูขนาดของธุรกิจและศักยภาพของกิจการในอนาคตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การดู Market Cap. นั้นค่อนข้างเป็นศิลปที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาก
ในกรณีที่หุ้นเป็นกิจการที่มีคุณภาพสูง ค่า PE หรือ PB ที่จะบอกว่าหุ้นถูกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้จากค่าเฉลี่ยของตลาด โดยที่คุณสมบัติของกิจการที่มีคุณภาพสูงอาจจะแสดงได้โดยตัวเลขหรือลักษณะการดำเนินการของกิจการดังต่อไปนี้คือ 1) กิจการนั้นมี ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าปกติ เช่นมากกว่า 20% ต่อปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน 2) กิจการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงกว่ากำไรทางบัญชีของบริษัท 3) บริษัทเป็น Dominant Firm หรือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าอันดับสองมากอย่างน้อยกว่า 2-3 เท่าขึ้นไป 4) บริษัทสามารถขยายงานได้โดยใช้เงินลงทุนน้อยมาก ข้อนี้จะพบมากในบริษัทที่ขายทรัพย์สินทางปัญญาหรือบริการที่ไม่ต้องมีอุปกรณ์หรือเครื่องจักรใหม่มาก 5) บริษัทสามารถปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ทันทีโดยไม่สูญเสียลูกค้าไป และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ 6) บริษัทมีการเจริญเติบโตเร็ว อย่างน้อยเป็น 3 เท่าของการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ
Premium หรือค่า PE ที่สูงขึ้นของกิจการที่มีคุณภาพสูงนั้น จะสูงขึ้นได้เท่าไรเป็นเรื่องที่บอกได้ยาก แต่ยิ่งบริษัทมีคุณภาพสูงขึ้นเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลาย ๆ ข้อดังกล่าวข้างต้น ค่า PE ก็มักจะมีค่าสูงทบทวีขึ้นไปมากขึ้น ในบางช่วงโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเอื้ออำนวย ค่า PE ของกิจการที่เป็น “Super Company” สามารถขึ้นไปสูงได้อย่างไม่น่าเชื่อและเกินกว่าราคาที่ Value Investor ส่วนใหญ่จะรับได้ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ในกรณีที่กิจการเป็นบริษัทที่โตเร็ว VI บางคนก็จะยอมรับค่า PE ที่สูงขึ้นได้โดยมีเงื่อนไขว่า ค่า PE ที่สูงนั้นต้องไม่เกินอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทโดยเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ ค่า PEG ต้องไม่มากกว่า 1 เท่า
สำหรับคนที่ลงทุนในกิจการที่ดีเลิศแบบ Super Company อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์นั้น เขาบอกว่าถ้าซื้อหุ้นถูกตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องขายหุ้นเลย อย่างไรก็ตาม เวลาที่ซื้อหุ้นของ VI ก็คือเมื่อเขาพบหุ้นที่มีมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาหุ้นในตลาดมาก ตัวเลขชัดเจนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละหุ้นแต่โดยทั่วไปน่าจะไม่น้อยกว่า 20-30% และความแตกต่างนี้เรียกว่า Margin Of Safety ซึ่ง VI เชื่อว่าจะเป็นส่วนที่ “เผื่อ” เอาไว้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือมีอะไรผิดพลาด หุ้นที่ซื้อโดยมี Margin Of Safety สูงก็ยังคงรักษามูลค่าของมันไว้ได้ พูดง่าย ๆ ถ้าหุ้นตกลงไปจากราคาที่ซื้อ เราก็สามารถถือยาวและในที่สุดมันก็จะฟื้นตัวกลับมาได้
เวลาขายหุ้นสำหรับ VI นั้น ก็เช่นเดียวกับการซื้อหุ้น คือไม่ได้อิงกับภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น และโดยทั่วไป การถือหุ้นมักจะเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวแม้ว่านิยามของคำว่ายาวของ VI แต่ละคนอาจจะต่างกันมาก เวลาของการขายหุ้นของ VI นั้นไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นเมื่อไรและจะขายเมื่อกำไรหรือขาดทุนเท่าไร แต่หลัก ๆ แล้วเขาจะขายในกรณีดังต่อไปนี้
1) ตระหนักว่ากิจการหรือหุ้นที่ซื้อมานั้นตนเองวิเคราะห์ผิดพลาดเนื่องจากข้อมูลใหม่ที่ได้รับรู้มา
2) พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปเนื่องมาจากเหตุผลต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ต้องระวังว่าไม่ใช่เรื่องที่เราเข้าใจผิดถึงพื้นฐานมาตั้งแต่แรก เพราะโดยทั่วไปพื้นฐานของกิจการนั้น มักเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก ว่าที่จริง คำว่า “พื้นฐาน” ก็แปลว่า “เปลี่ยนยาก” อยู่แล้ว
3) ราคาหุ้นขึ้นไปเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่าหุ้นขึ้นไปมากแล้ว เพราะการที่หุ้นขึ้นไปมากนั้นก็อาจจะไม่เกินพื้นฐานก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มูลค่าพื้นฐานของกิจการก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยทำให้ราคาไม่เกินพื้นฐานแม้ราคาหุ้นจะขึ้นไปมาก
4) มีหุ้นตัวอื่นที่น่าสนใจและมี Margin Of Safety สูงกว่ามากและเราไม่มีเงินสดเหลือ เราจึงต้องขายหุ้นตัวเดิมเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่
5) ภาวะเศรษฐกิจการเมืองและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากจนทำลายพื้นฐานของกิจการ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เศรษฐกิจถดถอยไปบ้างหรือการเมือง “วุ่นวาย” แต่น่าจะเป็นเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจหรือเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจไปในแนวทางที่ไม่ใช่ระบบตลาดเสรี เป็นต้น


ทฤษฎี VI (3)
1
โลกในมุมมองของ Value Investor 3 ตุลาคม 2552
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เรื่องของ EQ หรือความสามารถทางอารมณ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็น VI ที่ดี ว่าที่จริง EQ นั้น น่าจะสำคัญกว่า IQ หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยซ้ำ ประเด็นสำคัญของการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ เราต้องมีทัศนะคติที่ถูกต้อง มีอารมณ์ที่มั่นคง และมีความกล้าที่จะตัดสินใจ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ในการลงทุนนั้น เราต้องกล้าในยามที่คนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังกลัว และกลัวในยามที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม
ในมุมมองของ VI นั้น ตลาดหุ้นเป็นเสมือนคนที่มีอารมณ์ “แปรปรวน” และทำการซื้อขายหุ้นในราคาที่บ่อยครั้งไม่มีเหตุผล เช่นถ้าวันนั้น “นายตลาด” มีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เขาก็จะเสนอซื้อหุ้นจากเราในราคาที่สูงลิ่วเกินมูลค่าของธุรกิจไปมาก แต่ในวันที่เขารู้สึกหดหู่ เขาก็พร้อมที่จะเสนอขายหุ้นให้เราในราคาที่ต่ำติดดินทั้ง ๆ ที่มันก็คือกิจการเดียวกับที่เขาเสนอซื้อในราคาสูงลิ่วจากเราในวันก่อน หน้าที่ของเราก็คือ “เอาเปรียบ” เขาเมื่อเขาเสนอโอกาสมาให้ แต่อย่าไป “ตามเขา”
ประเด็นเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนในหลักการของ VI นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง วอเร็น บัฟเฟตต์ ถึงกับพูดว่า กฏของการลงทุนข้อที่หนึ่งคือ อย่าขาดทุน และกฏการลงทุนข้อสองก็คือ ให้กลับไปอ่านข้อหนึ่ง นั่นก็คือ สำหรับ VI แล้ว การรักษาเงินต้นคือภารกิจสำคัญที่สุด มากกว่าผลตอบแทนที่อาจจะมากแต่มีความเสี่ยงว่าจะขาดทุน
ความเสี่ยงสำหรับ VI นั้น ไม่ใช่ความผันผวนของราคาหุ้น แต่เป็นเรื่องที่ราคาหุ้นที่ซื้อไว้จะ “ลดลงอย่างถาวร” นั่นแปลว่าถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นตกลงมาในระยะสั้น แบบนี้ไม่ใช่ความเสี่ยงถ้าเราวิเคราะห์แล้วพบว่ามูลค่าพื้นฐานยังสูงเหมือนเดิม ตรงกันข้าม กลับเป็นโอกาสในการซื้อเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการซื้อหุ้นตัวนั้นกลับลดลงเพราะเรามี Margin Of Safety มากขึ้น
ในการควบคุมความเสี่ยงนั้น VI มีวิธีการหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ
1) รู้จักธุรกิจที่จะลงทุนเป็นอย่างดี ความเสี่ยงนั้นคือการที่เรา “ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่”
2) ลงทุนในสิ่งที่มี Margin Of Safety สูง
3) หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร นั่นคือ อย่าลงทุนในกิจการที่ไม่ได้สร้างเงินให้กับผู้ที่ถือมัน เหตุผลก็คือ ความแน่นอนของผลตอบแทนจะมีน้อยและมีความเสี่ยงที่เงินต้นอาจจะลดลง ตัวอย่างเช่น ทอง หรือตราสารอนุพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น
4) มีการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงของการถือครองทรัพย์สินอย่างเหมาะสม เช่น มีการถือพันธบัตร หุ้น เงินสด หรือทรัพย์สินอื่น รวมกันเป็นพอร์ตโฟลิโอในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่นเดียวกัน ในหลักทรัพย์แต่ละประเภทก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงโดยการถือหลาย ๆ ตัวด้วย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือหุ้นนั้น เราควรถืออย่างน้อย 5-6 ตัวขึ้นไปในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม อย่ากระจายการถือครองมากตัวเกินไป เพราะเราจะไม่สามารถวิเคราะห์และติดตามได้อย่างทั่วถึงและจะทำให้เราลงทุนผิดพลาดได้
ประเด็นอื่น ๆ ที่ VI คำนึงถึงค่อนข้างมากเรื่องแรกก็คือ ผู้บริหารของกิจการที่เราจะลงทุน เราเน้นว่าจะต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีจรรยาบรรณซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าฝีมือการบริหารงาน เรื่องต่อมาก็คือ เราอยากได้ผู้บริหารที่มองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นเรื่องที่สำคัญ และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้นก็คือการที่เราจะได้ปันผลในอัตราที่ยุติธรรมและเหมาะสม นอกจากนั้นเราอยากให้หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพื่อว่าถ้าเราจะขายเราก็จะได้กำไรหรือผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น ผู้บริหารที่พูดว่าราคาหุ้นไม่เกี่ยวกับเขา จึงไม่ใช่ผู้บริหารที่ดีในสายตาของ VI
VI นั้นต้องการให้ผู้บริหารดูแลราคาหุ้นแต่ไม่ใช่เข้าไปซื้อขายหุ้นทำราคาหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารที่ดีนั้นจะต้องสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้กับบริษัทที่จะทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น โดยคำว่าคุณค่านั้น รวมถึงผลประกอบการ โครงสร้างทางการเงินและความแข็งแกร่งของตัวกิจการ การจัดสรรกำไรและเงินสดคืนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม ประเด็นที่เป็นปัญหาบ่อย ๆ ก็คือ ผู้บริหารบางคนที่บริหารงานแล้วบริษัทมีกำไรพอใช้ได้ มีกระแสเงินสดดี แต่ราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนและราคาหุ้นก็ค่อนข้างต่ำมาก เขาก็ไม่ทำอะไรเพราะคิดว่าเรื่องราคาหุ้นไม่ใช่เรื่องของเขา แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ที่ราคาหุ้นต่ำอาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่ยอมจัดสรรกำไรให้กับผู้ถือหุ้นอย่างที่ควรเป็นต่างหาก
ประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ VI ก็คือเรื่องความผิดพลาดของ VI สิ่งที่ต้องระวังมากก็คือ การซื้อหุ้นหรือบริษัทที่มีคุณภาพต่ำในยามที่ธุรกิจดีและในเวลาที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูง เพราะเมื่อธุรกิจเริ่มแย่ลงตามภาวะ ราคาหุ้นจะตกลงมามาก อีกเรื่องหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันก็คือ การเข้าใจผิดว่ากำไรดีในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องเดียวกับ “ความสามารถในการทำกำไร” ซึ่งเป็นเรื่องที่คงทนและเป็นเรื่องระยะยาวกว่ามาก ดังนั้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ VI จะต้องมองผลประกอบการของบริษัทย้อนหลังหลายปีและต้องมองระยะยาวไปข้างหน้าหลายปีเช่นกัน
สุดท้าย ก่อนที่จะจบ “ทฤษฎี VI” ฉบับย่อที่สุดก็คือ VI นั้นเป็นเรื่องของความคิดปรัชญาและการกระทำ และเป็นเรื่องของคนที่ทำ นั่นก็คือ คนที่ยึดปรัชญาความคิดนั้นเราเรียกเขาว่า Value Investor มันไม่ใช่สิ่งของ หลักทรัพย์ หรือตัวหุ้น เพราะสิ่งเหล่านั้น สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ ประเด็นก็คือ การที่จะเป็น VI นั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นอิสระจาก “อารมณ์ของฝูงชน” เสร็จแล้วก็ต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำ หรือมีใจหนักแน่นพอที่จะอยู่เฉย ๆ และนั่นทำให้ VI เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ทั้งการศึกษาและประสบการณ์ในการลงทุนจริง

งบกระแสเงินสด...กับมือใหม่

เป็นกระทู้ที่ผมตอบไว้ในเว็บ Thaivi.com จึงขอนำมาแป่ะเก็บไว้ใน Blog ด้วยครับ

งบกระแสเงินสดจะแสดงการได้มาและใช้ไปของเงินสดของกิจการ บางท่านอาจจะคิดว่าเงินสดเป็นอะไรที่วัดได้ยากเพราะมีการไหลเข้าไหลออก ทำให้บางครั้งดูแล้เวียนหัว ไม่สามารถสะท้อนภาพของกิจการออกมาได้จริง

แต่ในความจริงแล้ว ในงบรายไตรมาสหรืองบประจำปี ผมคิดว่าเพียงพอ และน่าเชื่อถือ เพราะไม่ใช่เป็น daily transaction แต่เป็น quaterly และ yearly

ในส่วนของการดู แนะนำว่าให้มองหาบรรทัดสุดท้ายที่มีคำว่า "เงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมดำเนินงาน" แล้วขีดเส้นใต้ไว้ครับ

จากนั้นก็มองหาบรรทัด "เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมลงทุน" แล้วขีดเส้นใต้ไว้ครับ

จากนั้นก็มองหาบรรทัด "เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงิน" แล้วขีดเส้นใต้ไว้ครับ

ทีนี้เราก็มาดูความหมายของแต่ละตัวนะครับ


"เงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมดำเนินงาน"

ตัวนี้จัดได้ว่าเป็นผลลัพธ์ของการดำเนินธุรกิจเลยทีเดียว สำหรับมือใหม่ให้ดูว่า เป็นบวกต่อเนื่องหลายๆปีหรือไม่ ส่วนการปรับปรุงผมมักจะตัดรายได้หรือรายจ่าย พิเศษออก
เงินสดจากการดำเนินจะแบ่งเป็น 2 ช่วงย่อยคือช่วงก่อนเปลี่ยนแปลง ในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงานและช่วงหลัง
ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลง จะมีรายการสำคัญๆคือการปรับปรุงกำไรทางบัญชี ให้เป็นกำไรที่เป็นเงินสด โดยมีรายการหลักคือ
- ค่าเสื่อมราคา
- ค่าตั้งเผื่อด้อยค่า (เป็นการประมาณการทางบัญชี)
- ดอกเบี้ยจ่ายหรือรับ (เป็นค่าใช้จ่ายหรือรายได้ทางด้านการจัดหาเงินทุน)
ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลง จะเป็นการแสดงถึงการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน หมุนเวียนจากการดำเนินงาน ว่าบริษัทใช้เงินสดเพื่อซื้อของมาตุนเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือมีการให้ credit term ลูกหนี้ยาวขึ้นหรือไม่ ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์เพิ่ม เติมได้จากรายละเอียดประกอบงบที่แสดงคุณภาพของลูกหนี้และการแบ่ง ประเภทของสินค้าคงเหลือ
หากกระแสเงินสดก่อนการเปลี่ยนแปลง มากกว่า หลังการเปลี่ยนแปลงมากๆ แสดงว่าบริษัทมีการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่แย่ลง (แต่หากยอดขายสูงขึ้น ต้องมีการวัดด้วย ratio เพื่อเทียบออกมาเป็นหน่วย "วัน" เพื่อสามารถเทียบได้)
ในส่วนของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โดยส่วนมากผมไม่ค่อยปรับปรุง เท่าไหร่ แค่ใช้การดูหลายๆปีย้อนหลัง ว่ามีการแกว่งขึ้นลงมากหรือไม่และ ที่สำคัญ เรารู้หรือไม่ว่าการแกว่งนั้นเกิดจากสาเหตุใด จะมีปรับปรุงบ้างก็ต่อเมื่อเราพบว่าอนาคตของกิจการมีโอกาสเติบโตหรือถดถอย โดยการประมาณการเพิ่มหรือลดลงเป็นสัดส่วนเทียบกันระหว่างกระแสเงินสด จากการดำเนินงานกับยอดขาย


"เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมลงทุน"

ตัวนี้เป็นเงินสดที่กิจการใช้ในการลงทุนในส่วนของทรัพย์สินระยะยาว เพื่อให้เกิดกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาให้กับกิจการดังนั้น การใช้จ่ายในส่วนนี้ ส่วนมากจะเป็นการลงทุนซื้อที่ดินหรือเครื่องจักร
ค่าใช้จ่ายตัวนี้ เราสามารถนำไปเทียบกับค่าเสื่อมราคาได้ครับ โดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายการลงทุนผมมักจะเทียบกับค่าเสื่อมราคาและดูย้อนหลังไปหลายๆปี หากว่าบริษัทมีการลงทุนสูงอย่างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับค่าเสื่อมราคา ทั้งๆที่รายได้ก็ไม่ได้อะไรมากมาย หรือไม่ได้สร้างธุรกิจใหม่ๆอันนี้ก็ขอบายครับ
แต่หากการลงทุนนั้น ทำไปเพื่อการสร้าง line ธุรกิจใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นการซ่อม แซมเพื่อยืดอายุการใช้งาน ก็ต้องมีการปรับปรุงครับ เช่นหากกิจการทำการ ซ่อมแซมครั้งใหญ่มาก ซึ่งเราวิเคราะห์แล้วว่าไม่น่าจะเป็นการซ่อมที่เกิดเป็น ประจำ เช่น TR ที่เมื่อปีสองปีก่อนมีค่าใช้จ่ายตัวนี้มาก เพราะมีการเปลี่ยน line ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี อันนี้ผมก็จะปรับปรุงมันครับ โดยดูใช้ค่าใช้จ่ายเพื่อการ ลงทุนในอดีตปรับเพิ่มด้วยค่าใช้จ่ายการลงทุนพิเศษหาร 20 เพื่อทำเป็นค่าเฉลี่ย
ในทางกลับกันสำหรับบางกิจการ เงินสดจากกิจกรรมลงทุนอาจจะติดลบ มากๆ เพราะเกิดจากการที่เค้ามีเงินสดอิสระเหลืออยู่มากครับไม่รู้จะเอาไปทำ อะไรจะปันผลก็กลัวผู้ถือหุ้นจะโดนหักภาษีเยอะ บางทีเค้าก็เอาไปลงทุน ในธนาคารกินดอกเล่นๆก็มี
อันนี้ก็แสดงว่าเป็นการลงทุนที่ไม่เพิ่มมูลค่าครับ แต่หากกันไว้เพื่อลงทุนใน ปีถัดๆไป ก็ต้องดูว่ากันไว้ในปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่โดยดูประวัติการใช้เงิน ย้อนหลังก็จะช่วยให้เห็นภาพของเจตนาของผู้บริหารครับ
ยกตัวอย่างเช่น TR ก็กันไว้ค่อนข้างมากในปีสองปีที่ผ่านมา เพราะต้องการ ปรับปรุง line การผลิตครั้งใหญ่ แต่หากปีนี้ยังกันไว้เยอะอยู่ล่ะก็...น่าคิดครับ เพราะบางครั้ง เค้าอาจจะเอาเงินตัวนี้ไปซื้อกิจการร่วมหรือไปลงทุนที่ไม่ คุ้มค่าหรืออาจจะไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการเติบโตของธุรกิจโดยตรง
เงินสดจากการดำเนินงานหักออกด้วยเงินสดจากการลงุทนหลังจากปรับปรุง ก็จะได้เป็นกระแสเงินสดอิสระ ที่ผมจะนำมาเทียบกับมูลค่าตลาด


"เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงิน"

ตัวนี้เป็นแหล่งที่มาหรือใช้ไปของเงินสดที่มาจากผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ซึ่งรวมทั้งเงินกู้ธนาคารและส่วนเพิ่มทุนและเงินปันผลจ่ายของเจ้าของ
โดยปกติแล้ว หากกิจการสามารถดำเนินงานได้อย่างไม่มีปัญหา ตัวนี้มักจะ มีเพียงรายการของเงินปันผลจ่ายครับ แต่หากเมื่อใดกิจการเกิดการขาด สภาพคล่องมากๆ ทำให้ต้องมีการกู้หนี้ยืมสิน ก็ต้องมาพิจารณาว่าเกิดจากอะไรซึ่งอาจจะเกิดจาก
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบมากๆ
- กระแสเงินสดจากการลงทุนติดลบมากๆ
ถ้าเป็นกรณีแรก ก็ไม่ค่อยดีนะครับ ต้องมาดูว่าเกิดจากช่วงก่อนหรือหลัง การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียน ถ้าเกิดขึ้นก่อน แสดงว่าอาการไม่ดีแล้วล่ะครับ เพราะแสดงว่าเส้นเลือดใหญ่กำลังรั่ว แต่หากเกิดหลังเงินทุนหมุนเวียน แสดงว่ากิจการกำลังสูญเสียเงินไปจมในลูกหนี้ หรือสินค้าคงเหลือมากเกินไป ให้ลองหาต่ออีกทีว่าเกิดจากปัจจัยใด
ถ้าเป็นกรณีทีสอง ที่เกิดจากเงินลงทุนติดลบมากๆ ก็ต้องมาดูครับว่ากิจการ ลงทุนไปกับโครงการใด เกี่ยวข้องและส่งเสริมให้ตัวธุรกิจมีอนาคตมากขึ้น หรือไม่ โดยลองดูประวัติย้อนหลังว่าค่าใช้จ่ายการลงทุนครั้งใหญ่ในอดีตนั้น ได้ส่งผลต่อกำไรหรือยอดขายในปัจจุบันอย่างไร
กล่าวโดยสรุปมันจะเป็นวงเวียนตามนี้ครับ
จัดหาเงิน --> ใช้เงินเพื่อลงทุน --> ได้เงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน --> จัดหาเงิน (จ่ายปันผลและกันเงินสำรองไว้ลงทุนต่อ) --> ใช้เงินเพื่อลงทุน --> ได้เงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน
วนไปเรื่อยๆครับ
บริษัททีดีก็จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เป็นบวกสม่ำเสมอและโตขึ้นๆ แล้วก็นำเงินที่เหลือไปจ่ายเงินปันผลหรือเอาไว้ลงทุนในโครงการที่ได้ผล ตอบแทนงามๆ มากขึ้นๆ

ปล. เป็นการอธิบายโดยอ้างอิงจากงบของหุ้นที่เป็นการผลิตสินค้าเป็นหลักนะครับ ส่วนหุ้นประกันหรือธนาคารผมยังไม่สามารถครับ ต้องให้ผู้ช่วยชาญอธิบาย

BATA กับการลงทุนแบบไร้อารมณ์

การลงทุนแบบไร้อารมณ์แม้แต่น้อยของผมครั้งแรกต้องยกให้เจ้า BATA ครับ เพราะ...

เป็นการลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนโดยไม่ได้คำนึงว่ามีเซียนแนะนำหรือเปล่า

เป็นการลงทุนที่ตัดสินใจซื้อทั้งๆที่ราคาค่อยๆขึ้นมาเรื่อยๆในระดับที่ดูเหมือนว่าจะไม่ถูกแล้ว

เป็นการลงทุนที่ได้ทำการ valuation มูลค่าหุ้นก่อนซื้อ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ดูราคาตลาด

เป็นการลงทุนที่แม้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา 30% ก็ยังไม่ขายทำกำไร เพราะเหตุผลที่ว่ายังต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินไว้

ทั้งหลายทั้งปวง จึงมาสรุปที่คำว่า "การลงทุนแบบไร้อารมณ์"

มาดูว่าหุ้น BATA ที่ผมพบโดยบังเอิญนั้น ผ่านกฎการกรองหุ้นสไตล์ doodeemak รึเปล่า

1) หุ้น BATA เป็นหุ้นที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะจากยอดขายส่วนหนึ่งและจากการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่ดีขึ้นและดีขึ้น
ดังนั้น หุ้น BATA นั้น ผ่านกฎข้อที่หนึ่งในการกรองหุ้นของผมครับ

2) หุ้น BATA เป็นหุ้นที่สภาพคล่องไม่มาก แทบจะไม่มีคนสนใจเลยก็ว่าได้
ดังนั้น หุ้น BATA ผ่านกฎข้อที่ 2 ของผมครับ

3) กฎข้อนี้ไม่ต้องใช้ เพราะหุ้น BATA เป็นหุ้นที่ไม่ค่อยมีคนติดตาม

4) กระแสเงินสดของหุ้น BATA เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดในจณะนั้น จัดได้ว่าถูกอย่างเหลือเชื่อ โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานแต่ละไตรมาสตั้งแต่ปี 2007 ถึงปี 2009 เป็นดังนี้ครับ

กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Operating cash flow)
หน่วย: ล้านบาท
......2007... 2008... 2009
Q1..... 7.96... 9.35... 34.7
Q2..... 35.5... 35.3... 80.6
Q3..... 4.2... 13.2... 64.9
Q4..... 20.0... 31.8... ???
Total... 67.8... 89.6... 180.2 (ยังไม่รวม Q4!!!)
ทำให้ได้ค่าเฉลี่ยของกระเงินสดจากการดำเนินงานต่อปีประมาณ 122.76 ล้านบาท

กระแสเงินสดจากการลงทุน (Investing cash flow)
หน่วย: ล้านบาท
......2007... 2008... 2009
Q1..... -6.7... -4.8... -7.2
Q2..... -6.7... -7.0... -5.2
Q3..... -7.9... -5.7... -25.8
Q4..... -6.5... -3.9... ???
Total... -27.9... -21.4... -38.3 (ยังไม่รวม Q4)
เมื่อเทียบกับค่าเสื่อมราคาแล้วพบว่าอยู่ที่ระดับ 40 - 60% ของค่าเสื่อมราคา ยกเว้นในปี 2009 ที่มีการ renovate ร้านเพื่อปรับปรุงให้ดูดีขึ้น
แต่ด้วยการคิดแบบปลอดภัยไว้ก่อน โดยสมมติว่าลงทุนเท่ากับค่าเสื่อมราคา ทำให้ได้ค่าเฉลี่ยของกระเงินสดจากการลงทุนต่อปีประมาณ -48 ล้านบาท

จะทำให้ได้กระแสเงินสดอิสระต่อปีที่คำนวนได้อย่างง่ายคือ 74.5 ล้านบาทต่อปี

ในขณะนั้น BATA มีมูลค่าตลาดเท่ากับ 293 ล้านบาท และมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจากเงินกู้ธนาคารอยู่ 47.9 ล้านบาท แต่เมื่อดูเงินสดในงบดุลแล้วพบว่ามีเกินเหลือความจำเป็น ซึ่งสามารถนำเงินสดส่วนเกินนั้นมาชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ดังนั้น หนี้สินในกรณี BATA จึงไม่ต้องนำมารวมในการประเมินมูลค่า

หากคิดจำนวนปีที่จะคุ้มทุนก็จะพบว่าเท่ากับ 3.9 ปีเท่านั้น (293/74.5) คิดเป็นอัตราตอบแทนประมาณ 25%

ดังนั้น หุ้น BATA ผ่านกฎข้อที่ 4 ของผมครับ

5) หนี้สินประมาณ 47.9 ล้านขณะที่เงินสดของกิจการที่อยู่ในบัญชี ณ Q3-09 มีถึง 104 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามากเกินพอเมื่อเทียบกับระดับเงินสดในปีที่ผ่านมาที่ระดับ 30 ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้น หุ้น BATA ผ่านกฎข้อที่ 5 ของผมด้วยคะแนนเกินร้อย

6) หุ้นตัวนี้เป็นอะไรที่เราสามารถติดตามได้ง่าย และเข้าใจได้ไม่ยาก เราสามารถเดินดูกิจการได้ตามห้างสรรพสินค้า รวมทั้งสามารถทดลองใช้บริการได้ด้วยตัวเอง
ดังนั้น หุ้น BATA ผ่านกฎข้อที่ 6 ครับ

สรุปได้ว่า BATA ผ่านกฎการกรองหุ้นแบบมือใหม่สไตล์ doodeemak ทั้ง 6 ครับ

ในแง่มุมของการประเมินราคาหุ้น (อันนี้ผมยังไม่ได้เขียนบทความในรายละเอียด แต่ขอนำมาเกริ่นคร่าวๆไว้ก่อน)

หากทำการคิดลดกระแสเงินสดอิสระโดยใช้อัตราผลตอบแทนคาดหวังที่ 15% แบบ No growth ตามสูตรง่ายๆคือ 74.5/15% จะได้มูลค่า BATA ที่ 496.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าต่อหุ้นคือ 15.2 บาท เมื่อคิดส่วนเผื่อความปลอดภัยที่ 30% จะได้ราคาเป้าหมายที่ 10.66 บาทต่อหุ้น

ในขณะที่ตอนนั้น ราคาตลาดอยู่ที่ 9 บาทต่อหุ้น!!!

ลองดูปัจจัยเชิงคุณภาพก็พบว่า ร้านค้า BATA นั้น ดูทันสมัยมากขึ้น และแบบรองเท้าที่นำออกมาวางขาย ก็ดูเข้ายุคเข้าสมัย ราคาไม่แพงจนเกินไป อีกทั้งสาขาก็ยังสามารถขยายได้ตามการเติบโตของ Modern trade

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผมจึงเคาะขวาแบบไม่ลังเล !!!

และเมื่อราคาขยับขึ้นมาที่ระดับ 15 บาท ผมจึงค่อยๆทยอยขายส่วนหนึ่ง เพราะถึงราคาเป้าหมาย

แต่ในที่สุด BATA ก็มีอันที่จะต้องออกจากตลาด เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งสาเหตุหลักคือสภาพคล่องที่ไม่ผ่านกฎของตลาดหลักทรัพย์ที่ราคาเสนอซื้อที่ 17.5 บาทต่อหุ้น

ทำให้ผมขายจนหมด port ในราคา 17.1 ที่มีการซื้อขายหลังจากประกาศที่ออกจาก BATA

ปล. แต่ไม่ได้กำไรมากมายนะครับ เพราะปอดเล็กมาก..แฮ่

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 20, 2553

ทำไมตอนนั้นผมซื้อหุ้นทอผ้า

สืบจากกระทู้ของพี่หมอสามัญชน http://www.thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=41860
ทำให้ผมได้ idea กับบทความนี้

ไม่มีใคร pm มาหาผมเลย (แต่อยากเขียนเอง) ว่าทำไมซื้อหุ้นทอผ้า ผมเลยอาศัยจังหวะล้อกระทู้ของพี่หมอไว้ ณ โอกาสนี้

ตอนซื้อ TR และ TTTM ผมมีแนวคิดดังนี้ครับ

มุมมองด้านอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมทอผ้า เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นที่น่าสนใจ แต่ผมคิดว่ายังสามารถอยู่ได้ต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะผ่านการพิสูจน์จากการเข้ามาของคู่แข่งจากจีนและวิกฤติ subprime ซึ่งปรากฎว่า หุ้นหลายๆตัว ก็ยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ไม่ลดลงมาก (ถึงแม้บางตัวกำไรทางบัญชีจะติดลบ)
และด้วยความที่อุตสาหกรรมนี้เป็นอะไรที่เข้าใจได้ไม่ยาก เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ทำให้การคาดการณ์กำไรและยอดขายไม่ยากนัก ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้น อุตสากรรมนี้ก็น่าจะฟื้นตัวได้ตามไปด้วย
ในแง่การลงทุน จากการสอบถามผู้ที่ทำงานในโรงงานทอผ้า (แต่ไม่ใช่ฉันทนานะครับ) เงินลงทุนที่ใช้ก็ไม่มาก เพราะเครื่องจักรสามารถใช้งานได้ค่อนข้างยาวนานซึ่งการประมาณอายุตามเกณฑ์ทั่วไปที่ใช้กันนั้น อาจจะมากเกินไป ทำให้กำไรทางบัญชีของหุ้นกลุ่มนี้ดูต่ำเกินความเป็นจริง

มุมมองด้านความสนใจจากนักลงทุน
เนื่องจากเป็นอุตสาหกกรมที่ไม่หวือหวาและไม่มีอะไรโดดเด่น อีกทั้งสภาพคล่องก็ไม่มากนัก ไม่มีรายใหญ่เข้ามาเทรด จึงทำให้ราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกระแสเงินสดของหุ้นทอผ้าหลายตัวน่าสนใจ

มุมมองด้านการเลือกหุ้น
TR (Thai Rayon) เป็นหุ้นที่ขึ้นอยู่กับราคา rayon เป็นหลัก ซึ่งในช่วงวิกฤตราคาตกลงไปมาก จึงน่าลุ้นว่าเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีเหมือนเดิม ราคาก็น่าจะกลับมาใกล้เคียงเดิมได้ไม่ยากนัก ประกอบกับความแข็งแกร่งของ back up จาก Grasim และโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง ตัวนี้จึงเป็นตัวที่มากที่สุดใน port ขณะนั้นครับ

TTTM (Thai Toray Textile Mill) เป็นบริษัทที่ผมพบจากการกรองหุ้นโดยดูกระแสเงินสดเทียบกับ Market cap จากความอนุเคราะห์ของพี่ครรชิตแห่งเว็บ Thaivi พบว่าหุ้นตัวนี้มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ(ประมาณ 200 - 250 ล้าน) ถึงแม้จะผ่านปีที่ต้นทุนวัตถุดิบราคาเพิ่มและยอดขายลดลงจากวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม ในขณะที่การลงทุนนั้น ค่อนข้างน้อยมาก (ประมาณ 50 - 70 ล้าน) ยกเว้นปีที่ลงทุน line การผลิตผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ที่ทำให้เงินลงทุนสูงเพิ่มมากในระดับ 200 - 300 ล้านในช่วง 4-5 ปีก่อน
อีกปัจจัยหนึ่งก็คือโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยบริษํทได้นำเงินสดที่เหลือมาชำระหนี้ธนาคารระยะยาวจนหมดในปี 2009 ทำให้ในปี 2010 นี้ บริษัทจะมีเงินสดเหลือในระดับถึง 150 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ market cap ขณะนั้นประมาณ 360 ล้านบาทเท่านั้น!

สรุปก็คือบริษัทในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำแต่ในขณะเดียวกัน การหวังให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงๆในระยะสั้นๆก็คงจะลำบาก เพราะไม่เป็นที่สนใจแก่นักลงทุนทั่วไป มีเพียงแต่ระยะเวลาเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากระแสเงินสดของบริษัท จะส่งผลอย่างไรต่อราคาหุ้นของกิจการในอนาคต

ถ้าผมได้ไปออก Money Talk (ภาคจบ)

ตอนที่สองที่ผมเขียนไว้ในเว็บ Thaivi ครับ

กลับมาพบกับ Money talk daily นะครับ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์ อาจารย์ เสน่ห์ ศรีสุวรรณและผม ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา และแขกของเราวันนี้นักลงทุนหุ้นคุณฆ่าแห่งเว็บ ThaiVI.com คุณ doodeemak ครับ

ดร. ไพบูลย์: เรามาพูดคุยกันต่อถึงเรื่องแนวทางการลงทุนหุ้นคุณฆ่ากันต่อดีกว่านะครับ ไม่ทราบว่ากลยุทธ์การลงทุนของคุณ doodeemak มีแนวทางไหนซ้ำเติม เอ้ย เพิ่มเติมนอกเหนือจากช่วงแรกบ้างมั๊ยครับ

doodeemak: ครับ ผมเริ่มรู้แล้วครับว่าการเรียนรู้นั้นไม่มีที่สิ้นสุด และข้อมูลก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการตัดสินใจลงทุน แล้วผมก็เริ่มรู้จักเว็บไซด์ของ กลต. ครับ

ดร. นิเวศน์: <อืมม์..เริ่มจะมีสาระบ้างและ... >

doodeemak: ผมเริ่มรู้จักการใช้เครื่องมือเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมาประกอบกันอย่างลงตัวมากยิ่งขึ้นครับ

ดร. นิเวศน์: ยังไงบ้างครับ

doodeemak: ผมเริ่มรู้จักการใช้แบบ 59-2 ครับ โดยการดูข้อมูลเชิงคุณภาพว่าหุ้นตัวไหนที่เจ้าของเริ่มเก็บที่ราคาและปริมาณเท่าไหร่

ดร. นิเวศน์: -_-'

ดร. ไพบูลย์: อ้อ...เริ่มมีการประยุกต์เข้าหาผู้ที่มี Inside information แล้วผลตอบแทนเป็นยังไงบ้างครับ

doodeemak: เอ่อ... ผมว่าข้ามๆมันไปดีกว่ามั๊ยครับ เรื่องผลตอบแทนเนี่ย มันก็ออกแนวเดิมล่ะครับ หุ้นขึ้นก็รีบขายทำกำไร หุ้นตกก็รอไปเรื่อยๆ จนตกมามากๆก็ตัดใจขายไปน่ะครับ เพราะกลัวมันจะตกไปมากกว่านี้

ดร. เสน่ห์: แล้วจากการที่คุณ doodeemak ได้เข้าไปเรียนรู้วิชาการลงทุนจากเว็บ ThaiVI แล้วเนี่ย ไม่ทราบว่ามีห้องไหนที่คุณ doodeemak อยากจะแนะนำนักลงทุนบ้างครับ

doodeemak: ก็มีห้อง Value Investing กับ ห้องร้อยคนร้อยดอย เอ๊ย ร้อยหุ้นน่ะครับ

ดร. นิเวศน์: เอ...ผมว่ามันน่าจะมีห้องที่น่าสนใจมากกว่านั้นน่ะครับ ในเว็บนี้

ดร. ไพบูลย์: ใช่ๆ ผมยังเข้าไปอ่านอยู่บ่อยๆ ห้องคลังกระทู้คุณค่ากับห้องบทความ มีเนื้อหาสาระเข้มข้นสไตล์ VI เค้าเลยล่ะ ยังไม่รวมห้องเศรษฐศาสตร์ข้างถนนที่รวมเอาบทความทางเศรษฐกิจกับห้อง Multimedia ที่รวบรวมไฟล์ presentation หรือไฟล์เสียงจากงานสัมมนา

doodeemak: มีห้องชื่อแบบนี้ด้วยเหรอครับ !?!?

ดร. ไพบูลย์: -_-'

ดร. นิเวศน์: แล้วไม่ทราบว่าเวลาที่คุณ doodeemak มีคำถามอะไร หรือมีข้อสงสัยอะไร คุณ doodeemak มีวิธีการหาทางออกหรือปรึกษาใครยังไงบ้างครับ

doodeemak: อ๋อ มีครับ ผมก็ได้พี่ๆน้องๆในเว็บ ThaiVi นี่แล่ะครับเป็นที่ปรึกษา

ดร. ไพบูลย์: ยกตัวอย่างคำถามที่ได้ลองถามไปได้มั๊ยครับ

doodeemak: ครับ... ก็เช่น หุ้นตัวนี้ทำธุรกิจอะไรอยู่, ราคานี้ซื้อได้รึยัง, ทำไมราคายังไม่ไปไหนซักที, ราคาตอนนี้ควรขายรึเปล่า, ทำไมกำไรต่อหุ้นถึงตก อะไรประมาณเนี๊ยล่ะครับ

ดร. เสน่ห์: เป็นคำถามที่สร้างสรรค์ดีนะครับ

doodeemak: ใช่มั๊ยล่ะครับ เราซื้อหุ้น เราก็ควรอยากรู้ว่าราคาไหนควรซื้อ ราคาไหนควรขาย

ดร. เสน่ห์: ผมหมายถึงสร้างสันเขางามๆไว้ให้คุณ doodeemak ได้ลองขึ้นไปสูดอากาศแล้วไม่ต้องลงมาน่ะครับ

doodeemak: ?!?!? หมายถึงอะไรเหรอครับ

ถ้าผมได้ไปออก Money Talk อิอิ...

เป็นกระทู้แรกๆที่ผมลองเขียนในห้องนั่งเล่นของ www.Thaivi.com (เพราะอิจฉาพี่ๆ เพื่อนๆที่ได้ไปออกรายการ Money talk) แล้วลองจินตนาการดูว่า ถ้าทางรายการติดต่อให้เราไปออกรายการ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น!

ดร. ไพบูลย์: นี่เป็นรายการ Money talk daily รายการเพื่อเศรษฐกิจสาระและการลงทุนหุ้น รายการโทรทัศน์เพื่อชีวิตที่พอเพียงครับ

ดร. นิเวศน์: ผม นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

ดร. เสน่ห์: ผมเสน่ห์ ศรีสุวรรณครับ

ดร. ไพบูลย์: และผม ไพบูลย์ เสรรีวิวัฒนาครับ วันนี้ก็เป็นอีกวันนึงนะครับที่เราจะได้พบกับแขกรับเชิญที่เป็นนักลงทุนแห่งเว็บ ThaiVi หลังจากที่เราได้พบกับแขกรับเชิญที่เป็นนักลงทุนระดับเซียนมาหลายต่อหลายท่าน วันนี้ เราจึงขอเชิญนักลงทุนหุ้นคุณฆ่า เพื่อมาเป็นวิทยาทานกับท่านผู้ชมรายการทุกท่านนะครับ สวัสดีครับคุณ doodeemak

doodeemak: ขอบคุณที่ชมครับ

ดร. ไพบูลย์: เข้าใจตั้งชื่อให้ตรงข้ามกับหน้าตาดีนะครับ

doodeemak: ?!?!

ดร. นิเวศน์: ผมว่าเรามาเข้าประเด็นกันเลยดีกว่านะครับ ไม่ทราบว่าคุณ doodeemak ลงทุนหุ้นคุณฆ่า มากีปีแล้วครับ แล้ววิธีการลงทุน รวมทั้งผลตอบแทนเป็นยังไงบ้างครับ

doodeemak: อืมม์...ผมลงทุนมาประมาณเกือบปีครับ ผมเริ่มลงทุนโดยการเปิดบัญชีผ่านอินเตอร์เน็ตก่อนครับ จากนั้น ผมจึงค่อยศึกษาวิธีการลงทุนมาเรื่อยๆครับ ตั้งแต่การค้นหาชื่อผู้ลงทุนรายใหญ่จาก criteria "เหมวิชรวรากรณ์", "เสรีวิวัฒนา" จากนั้นผมก็เริ่มซื้อหุ้นครับ ผลตอบแทนจนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 0% พอดีเลยครับ

ดร. เสน่ห์: แล้วหลังจากได้เรียนรู้ว่าการลอกการบ้านแบบไม่มีศิลปะนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ทราบว่าคุณ doodeemak ได้มีการเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างไรบ้างครับ

doodeemak: ผมก็เริ่มสมัครเป็นสมาชิก ThaiVI เพื่อหาข้อมูลข่าวสารครับ แล้วผมก็พบว่าควรใช้ข้อมูลเชิงปริมาณมาประกอบการตัดสินใจด้วย

ดร. ไพบูลย์: ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลอะไรครับ งบการเงิน หรือว่า ratio ต่างๆ

doodeemak: ไม่ใช่ครับ เป็นข้อมูลจำนวน click ในห้องร้อยคนร้อยหุ้นครับ เพื่อดูว่าหุ้นตัวไหนร้อนแรง ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์นี้ก็ทำให้ประสบความสำเร็จได้ขึ้นไปสูดอากาศบนดอยก่อนที่จะยอมสละเงินบางส่วนเพื่อกระโดดไปดอยอื่นครับ

ดร. ไพบูลย์: นับว่าเป็นคนที่มีพัฒนาการสูงนะครับ ชอบที่สูงๆ เอิ้กๆๆๆ

doodeemak: จากนั้นผมก็เริ่มรู้ตัวครับว่า ข้อมูลเชิงปริมาณนั้น ไม่เพียงพอต่อความสำเร็จ ต้องมีข้อมูลเชิงคุณค่าด้วย

ดร. นิเวศน์: อ๋อออ...คงเป็นข้อมูลในเชิงของธุรกิจและความสามารถทางการแข่งขันประมาณนั้นใช่มั๊ยครับ

doodeemak: ไม่ใช่อ่ะครับ..ผมเริ่มรู้ว่าเราควรจะรู้จักพึ่งพาผู้รู้ครับ ผมเริ่มจะเข้าไปดูการโพสต์ของเซียน VI ทั้งหลาย โดยการเข้าไปที่ profile --> find all post by ...

ดร. ไพบูลย์: อืมม์....นับเป็นวิธีการที่ (ไม่)เลวเลยนะครับ แล้วผลตอบแทนเป็นยังไงบ้างครับ

doodeemak: หุ้นที่ขึ้นผมก็รีบขายครับ กลัวไม่ได้กำไร ส่วนหุ้นที่ลงผมก็รอไปเรื่อยๆครับ จนมันลงมามากๆ ผมกลัวว่าจะลงแดงไปกว่านี้ ก็เลยตัดใจขายไปด้วยครับ ผลตอบแทนก็ประมาณลบ 5% ครับ

ดร. นิเวศน์: <เชิญมันมาทำไมวะเนี่ย.....กำ>

ดร. ไพบูลย์: ครับ..และนี่ก็คือตัวอย่างที่ดีของนักลงทุนหุ้นคุณฆ่า แห่งเว็บ ThaiVi ขอบคุณมากครับสำหรับการคุยกันวันนี้ เอ่อ...ไม่ทราบว่าคุณ doodeemak จบจากไหนมาเหรอครับ

doodeemak: จบโทบริหาร เอกการเงินครับ มีอาจารย์คนแรกชื่อไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ครับ

ดร. ไพบูลย์: ?!?!?

บัญญัติ 10 ประการในการลงทุนสไตล์ VI (ฉบับปรับปรุง)

เป็นกระทู้ที่ผมตั้งเอาไว้ใน http://www.thaivi.com/ เพื่อเตือนสติของนักลงทุนหน้าใหม่ (รวมทั้งตัวเอง) ว่าให้มีสติกับการลงทุน และอย่า"เชื่อ"จนกว่าจะได้พิสูจน์และค้นพบ"ความจริง"ด้วยตัวเอง

1) จงใช้ประโยชน์จาก web Thavi เพื่อหาความรู้และนำไปต่อยอด

2) เมื่อใดก็ตามที่คุณใช้ web Thavi แล้วสามารถทำการซื้อหุ้นภายใน 10 นาที จงระมัดระวังตัวเพราะว่าคุณอาจจะกำลังอยู่บนยอด (ดอย)

3) จงอ่านเพื่อนำไปคิดและต่อยอด ไม่ใช่อ่านแล้วเชื่อเลย ขนาดบุพการีที่หวังดีต่อเรา ยังอาจจะบอกเราผิดพลาดได้

4) หากยังไม่เข้าใจข้อ 3 ให้ลอง search หาคำกลอนของท่านสุนทรภู่ "แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์..."

5) หากริจะเล่นหุ้นตามเซียน จงมั่นใจว่า - คุณเคยไปเล่นกีฬาหรือจิบเบียร์กับเซียนคนนั้นบ่อยๆหรือไม่ - ในโทรศัพท์มือถือของเซียน มีเบอร์ของคุณเม็มอยู่ - คุณเป็นคนแรกๆที่เซียนจะนึกถึงเมื่อเค้าทำการขายหุ้น

6) ในคลังกระทู้คุณค่ามีกระทู้อื่นๆอีก นอกจากกระทู้ปรับพอร์ตของคุณลูกอิสานและกระทู้นริศสอนน้อง

7) เวลาเข้าไปในร้อยคนร้อยหุ้น จงระวังสัญลักษณ์ เพราะคุณอาจจะอยู่ในงานเลี้ยงที่เจ้าของกลับไปแล้วและต้องคอยล้างจานทั้งๆที่ไม่ได้กินอะไรเลย

8) หุ้นบางตัวในร้อยคนร้อยหุ้นเป็นหุ้นวัฏจักรคือ

9) จงอย่าประมาทพลังเงินของสมาชิก Thaivi

10) จงมีสติระลึกอยู่เสมอว่าคุณไม่ใช่คนแรกที่อ่านเจอเรื่องราวดีๆของหุ้นตัวนั้นๆ

กรองหุ้นสไตล์ doodeemak

การกรองหุ้น ก็คือขั้นตอนขั้นตอนหนึ่งในการเริ่มต้นของการลงทุนนะครับ
แน่นอนครับว่าการเริ่มต้นที่ดีนั้นย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง หากเปรียบกับการหาเนื้อคู่ ก็คงจะเปรียบได้กับการกรองบุคลิก ลักษณะของเนื้อคู่ที่เราต้องการจะพบ
บางท่าน อาจจะมีประสบการณ์ได้เนื้อคู่จากการดูเว็บบอร์ด (ซึ่งบางครั้งอาจจะคิดไปเองว่าเป็นรักแรกพบ... ดูเว็บปุ๊บก็สามารถแต่งกับหุ้นตัวนั้นได้ปั๊บ)
ขณะที่บางท่านกว่าจะได้เนื้อคู่มา ก็ต้องผ่านการกรองแล้วกรองอีก... กรองแล้วกรองอีก (จนบางครั้งกรองนานจนหาไม่ได้ก็มี...)
แต่เทคนิคในการกรองหุ้นนั้น ผมเชื่อว่านักลงทุนแต่ละท่านก็คงมีวิธีคิดที่แตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางความคิด, ประสบการณ์, บุคลิกภาพส่วนตัว ซึ่งมีผลต่อระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้รวมไปถึงมุมมองในการกรองหุ้นแบบต่างๆ (เริ่มมีสาระบ้างละ)

ต่อไปนี้คือแนวความคิดของผมกับการกรองหุ้น ณ ประสบการณ์ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ 3 ปีครึ่งครับ

กรองหุ้นสไตล์ doodeemak

กฎข้อที่ 1: ลงทุนในธุรกิจที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินเป็นบวกสม่ำเสมอ (ดูนางให้ดูเงินสด ไม่ใช่บัตรเครดิต)
ข้อนี้แทบจะเป็นกฎเหล็กของผมเลยก็ว่าได้ครับ การกรองคู่แท้นั้นต้องเริ่มที่สถานะทางการเงินครับ โดยเน้นว่าเป็นเงินสดๆครับ ไม่ใช่เงินเชื่อ (เพื่อให้เราเกาะได้อย่างสบายใจ..อิอิ) ในแง่การลงทุนนั้น ป็น common sense สุดๆเลยครับ ในกรณีที่เราจะหาหุ้นส่วนธุรกิจ เราย่อมต้องการที่จะเป็นหุ้นส่วนกับธุรกิจที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นบวกสม่ำเสมอ

อ้างอิงจากวิชาการประเมินมูลค่าโครงการ การหา NPV หรือ IRR ล้วนแล้วแต่ประเมินจากกระแสเงินสดด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นกฎข้อนี้เป็นกฎที่ห้ามฝ่าฝืนสำหรับผมครับ

กฎข้อที่ 2: ไม่ลงทุนในหุ้นที่มีคนติดตามมาก (จีบนางให้ดูคู่แข่ง)
ละครเกาหลีได้นำเสนอความหวังของปุถุชนชาวไทยว่าพระเอกหรือนางเอกถึงแม้จะมีฐานะ มีความแตกต่างจากเขาหรือเธอที่หมายปองเพียงใด ก็ยังมีความหวังที่จะสามารถเด็ดดอกฟ้ามาเชยชม จริงอยู่ที่ว่าหุ้นที่คนตามมากนั้น ส่วนใหญ่หลายต่อหลายธุรกิจเป็นกิจการที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มของการเติบโตและการทำกำไรที่ดี แต่ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าคนส่วนใหญ่มักจะ "เชื่อ" กันจนเกินสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นจริงเสมอ ดังนั้นโอกาสที่หุ้นที่คนตามมากนั้นจะ undervalue คงมีน้อย (หรือนัยหนึ่งก็คือ โอกาสจะจีบติดนั้น..ยากครับ)

กฎข้อที่ 3: ถ้าไม่เชื่อกฎข้อแรก ให้ศึกษาไว้ก่อนแล้วรอหาจังหวะที่เหมาะสม (รอเธออกหักแล้วหาจังหวะดามใจ)
หากเรายังไม่หมดหวังกับการเด็ดดอกฟ้า ตามคัมภีร์เกาหลีวิทยา เราจะต้องรอครับ รอจนเขาหรือเธอนั้นอกหักหรือผิดหวัง แล้วอาศัยจังหวะที่ฝนตก หาร่มไปกางให้เธอ (ถ้าเธอพกร่มมาให้รอจังหวะน้ำกระเด็นใส่แล้วยื่นผ้าเช็ดหน้าแทน) ในมุมมองของหุ้นนั้น กรณีที่เราสนใจกิจการนั้นมากและมองว่าเป็นกิจการที่น่าสนใจ โอกาสอาจจะมาถึง หากมีเหตุการณ์พิเศษ ที่ทำให้หุ้นตัวนั้นๆถูกประเมินราคาตกลงไปมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสของเราที่จะได้ศึกษาผลกระทบและอาจเป็นโอกาสในการลงทุนของเราอีกครั้งหนึ่ง

กฎข้อที่ 4: หาหุ้นที่มีกระแสเงินสดอิสระในสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับราคาตลาด (หากมีนางให้เลือกมากมาย...ให้เลือกนางที่คุ้มกับความพยายามที่สุด)
บางท่านอาจจะมีทางเลือกมาก มีหนุ่มๆหรือสาวๆที่กรองมาแล้วให้เลือกมากมาย ในกรณีนี้ เป็นสิทธิของท่านแล้วล่ะครับ ที่จะมีสิทธิเลือกว่าที่คู่ชีวิตที่ท่านคิดว่าเหมาะสมกับความพยายามมากที่สุด ตัวอย่างเช่น หลังจากกรองแล้วเจอ อั้ม พัชราภา, แอฟ ทักษอร และน้องมีนนางเอกปลาบู่ทอง ถึงแม้ทั้งสามคนนี้ เราจะมีโอกาสจีบติด แต่ความพยายามนั้นจะเห็นได้ว่าสองคนแรกนั้น ต้องใช้ความพยายามมากเหลือเกิน (เพราะแฟนปัจจุบันของเค้าแต่ละคนก็คือถังเงินถังทองเคลื่อนที่ดีๆนี่เอง) แต่กับน้องมีนปลาบู่ จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีข่าวกับดาราหนุ่มบางคน แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นตัวเป็นตน อีกทั้งต้นทุนการเทคแคร์ ก็ไม่น่าจะสูงเท่ากับสองคนแรก ดังนั้น เมื่อประเมิน value/cost แล้วพบว่ามีค่าสูงที่สุด... ฟันธง!
กลับมาที่เรื่องหุ้นกันบ้าง (หลังจากนอกเรื่องมานาน...) การกรองหุ้นลักษณะนี้มักจะทำให้เราได้หุ้นที่ปลอดภัยและราคาไม่แพง เหมาะกับคนที่ไม่อยากเสี่ยง แต่การประมาณการกระแสเงินสดอิสระนั้น เราอาจจะต้องพิจารณาย้อนหลังหลายๆปี เพื่อดูแนวโน้มและความสม่ำเสมอ (ดูว่าคุณภาพนั้น ของแท้หรือเทียม หากเทียบกับการเลือกคู่ บางทีเราอาจจะเจอ"ตอ"ก็เป็นได้) ดังนั้นเราอาจจะต้องมีการปรับกระเงินสดดำเนินงานและกระแสเงินสดจากการลงทุนให้เหมาะสมโดยตัดเอาเงินลงทุน ที่ใช้ในการขยายกิจการ หรือเงินได้หรือจ่ายพิเศษๆออกไป อย่างไรก็ตาม กฎข้อนี้ไม่ควรกรองแบบเข้มข้นมากจนเกินไป จนทำให้เราละเลยหุ้นที่อาจจะแพงกว่าหน่อย แต่มีศักยภาพสูงกว่ามาก

กฎข้อที่ 5: เลือกหุ้นที่มีหนี้สินต่ำ (เลือกนางที่มีภาระน้อยที่สุด)
หากท่านจะหาคู่ แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ท่านจะได้เป็น pakage ซื้อ 1 แถม 3 ก็คือพ่อตาแม่ยายและลูกติด (ในบางกรณี) หากเป็นไปได้ เพื่อความราบรื่นในชีวิต การเลือกคู่ที่ภาระน้อยย่อมได้เปรียบ ในมุมมองของหุ้น ด้วยความที่เป็นคนที่มีพื้นฐานไม่ชอบเสี่ยง หุ้นที่เหมาะกับกระผมจึงเป็นหุ้นที่ไม่ควรมีหนี้สินมากๆ โดยอาจจะวัดได้จากการเอาหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยหารด้วยกระแสเงินสดอิสระไม่ควรมากกว่า 3 ซึ่งหมายความว่า เราสามารถนำเงินสดไปชำระหนี้หมดได้ในเวลาไม่เกิน 3 ปี

กฎข้อที่ 6: เลือกหุ้นที่คุณเข้าใจ และสามารถติดตามได้ (เลือกคนที่เราเข้าใจเค้าและเค้าก็เข้าใจเรา)
ทุกข้อที่กล่าวมา หากข้อนี้ไม่ผ่าน สุดท้ายคู่ต่างๆก็มักลงเอยด้วยประโยคที่ว่า "เราเข้ากันไม่ได้" หรือ "เรามีทัศนคติแตกต่างกันเกินไป" กฎข้อนี้เป็นกฎเหล็กอีกข้อหนึ่งซึ่งผมวางไว้ข้อสุดท้ายเพื่อเตือนใจเอาไว้ว่า "อย่าลงทุนในธุรกิจที่เราไม่เข้าใจและไม่สามารถประมาณการอนาคตได้เป็นอันขาด"